กลไกการเกิดริดสีดวงทวารหนัก
ทวารหนักเป็นส่วนติดต่อมาจากลำไส้ใหญ่ และมาเปิดออกนอกร่างกายมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ถูกแบ่งครึ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเส้นรอบวงที่เรียกว่า แนวเส้นประสาท (Dentate line) ส่วนที่อยู่สูงกว่าแนวเส้นประสาท เรียกว่า รูทวารหนัก (Anal canal) จะไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวดมาเลี้ยง ที่ผนังของรูทวารหนักปกติจะมีก้อนเนื้อนูนออกมาเป็นระยะโดยรอบ เรียกว่า เบาะรอง (Cushion) ซึ่งภายในมีกลุ่มเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ
โดยทฤษฎีใหม่ล่าสุดของการเกิดริดสีดวงทวารหนักนั้นเชื่อว่าการเบ่งอุจจาระมากๆ ภาวะท้องผูก ความดันจากการเบ่งที่สูงขึ้นและอุจจาระก้อนใหญ่จะดันให้เบาะรองเลื่อนลงมาเรื่อยๆ จนยื่นออกมานอกทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงทวารหนักชนิดภายใน (Internal hemorrhoid) ส่วนของทวารหนักที่อยู่ใต้ต่อแนวเส้นประสาท จะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดมาเลี้ยง เรียกว่า ปากทวารหนัก (Anal margin) เมื่อเบาะรองจากบริเวณรูทวารหนักเลื่อนตัวลงมาเรื่อยๆ จนถึงปากทวารหนักก็จะดันกลุ่มส้นเลือดและเนื้อเยื่อของปากทวารหนักให้เลื่อนต่ำลงและเบียดออกด้านข้าง จนกลายเป็นก้อนนูนที่ปากทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงทวารหนักชนิดภายนอก ( External hemorrhoid )
อาการของโรคริดสีดวง
- ถ่ายเป็นเลือดสด
- มีก้อนยื่นออกมาจากทวารหนัก
- คันและระคายเคืองปากทวารหนัก จากเมือก ผนังลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
- ปวด โดยเฉพาะริดสีดวงภายนอก เนื่องจากการฉีกขาดของเส้นเลือดและเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงมาก หรือริดสีดวงภายในที่มีการยื่นออกมาแล้วกลับไม่ได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องเสียถ่ายอุจจาระบ่อยๆ
- อุปนิสัยเบ่งอุจจาระอย่างมากเพื่อพยายามขับอุจจาระก้อนสุดท้ายให้ออกไป
- อุปนิสัยใช้เวลานั่งถ่ายอุจจาระนาน เช่น อ่านหนังสือขณะถ่ายอุจจาระ
- ชอบใช้ยาสวนอุจจาระหรือระบายพร่ำเพรื่อ
- หญิงตั้งครรภ์ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่สะดวก
- ภาวะโรคตับแข็งทำให้เลือดดำไหลเข้าตับไม่ได้ ทำให้เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง
- อายุสูงวัยขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหย่อนยานลง จนทำให้เบาะรองเลื่อนลงมาจนยื่นออกมาจากทวารหนัก
- โดยไม่ทราบสาเหตุพบว่าบุคคลที่มีประวัติในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวารหนัก จะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติ
ระยะของริดสีดวงทวารหนัก แนวทางการรักษา
- ระยะที่ 1 หัวริดสีดวงจะอยู่ภายในรูทวารหนักมักจะมีปัญหาเลือดออก – รักษาได้โดยการให้ยาฉีดเข้าไปในตำแหน่งเลือดออก หรือใช้ยาเหน็บ ยากิน
- ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงที่อยู่ภายในจะโผล่เมื่อถ่ายอุจจาระและหดกลับมาได้เอง – ยิงยางรัดโคนหรือหัวของริดสีดวงที่โผล่ออกมาก็จะทำให้หัวริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดไปได้หรือผ่าตัดด้วยเครื่องตัดเย็บอัตโนมัติ
- ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงโผล่ และใช้มือดันกลับได้ – ผ่าตัดด้วยมือ เครื่องตัดเย็บอัตโนมัติหรือใช้ยางรัด
- ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงยื่นออกมาใหญ่ดันกลับไม่ได้ – ผ่าตัดด้วยมือ และเครื่อง Ligasure
ทำอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าเป็นริดสีดวงทวาร
การรักษาริดสีดวงขึ้นกับระยะที่เป็น ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากการปรึกษาศัลยแพทย์เป็นผู้พิจารณาเลือกการรักษาที่เหมาะสม
- เปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งถ่ายอุจจาระ
- การใช้ยารักษา เช่น ยากิน, ยาระบาย, ยาเหน็บ และยาทา ซึ่งมักใช้กลุ่มระยะเริ่มต้น
- การฉีดหัวริดสีดวง
- การรัดหัวริดสีดวงทวารด้วยยางรัด
- การจี้หัวริดสีดวงทวาร
- การผ่าตัด ซึ่งจะทำในรายที่เป็น ในระยะที่ 1-3 ใช้วิธีผ่าตัดด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ หรือวิธีธรรมดา
- การผ่าตัดในระยะที่ 4 อาจทำการผ่าตัดธรรมดาหรือ ด้วยเครื่องจี้ Ligasure ระยะการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่า แผลหายเร็ว เลือดออกน้อยระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นกว่า
การทำงานของเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ
แนวความคิดใหม่ในการผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก คือ การดันเบาะรองกลับสู่ที่เดิม ริดสีดวงทวารหนักชนิดภายนอกก็จะยุบแบนลง และชนิดภายในก็จะถูกดันกลับไป และเย็บแขวนเอาไว้ป้องกันไม่ให้เลื่อนต่ำลงมาอีก
ข้อดีของการใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ
- ตัดริดสีดวงทวารหนักออกได้หมด โดยไม่เกิดรูทวารหนักตีบตัน
- ผู้ป่วยจะเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า
- หลังผ่าตัดไม่ต้องแช่ก้นด้วยน้ำอุ่นเพื่อล้างแผล
- หลังผ่าตัดไม่ต้องใส่ผ้าอนามัยซับน้ำเหลือง
- เวลาในการผ่าตัดสั้นกว่า
- เวลาในการอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า
- เวลาในการพักฟื้นที่บ้านสั้นกว่า