เมื่อคู่สมรสเกิดภาวะมีบุตรยาก ทั้งสามีและภรรยาจะต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุเพื่อทำการรักษาอย่างตรงจุดหากการรักษาจำเป็นต้องมีการผสมเทียมเพื่อการตั้งครรภ์ ก็จะต้องทำการเก็บอสุจิจากฝ่ายชาย ซึ่งนอกจากเก็บด้วยวิธีธรรมชาติ ยังมีการเก็บด้วยวิธีทางการแพทย์ ดังนี้
การเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะเพื่อนำอสุจิมาผสมกับไข่มีอยู่ 3 วิธีคือ
1. พีซ่า (PESA – Percutaneous epididymal sperm aspiration)
เป็นวิธีการเก็บอสุจิ โดยการใช้เข็มขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 mm เข้าไปดูดเอาตัวอสุจิที่บริเวณลูกอัณฑะที่ตำแหน่ง epididymis ซึ่งคือตำแหน่งส่วนบนของลูกอัณฑะ อันเป็นบริเวณที่รวมกันของตัวอสุจิที่สร้างจากลูกอัณฑะ
2. ทีซ่า (TESA – Testicular sperm aspiration)
เป็นวิธีการเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะ โดยใช้เข็มขนาดเล็กดูดเนื้อลูกอัณฑะออกมา จะใช้ในกรณีที่เก็บจาก epididymis แล้วไม่พบตัวอสุจิ จึงมาเก็บที่ลูกอัณฑะอีกต่อหนึ่ง
3. เทเซ่ (TESE – Testicular sperm extraction)
เป็นวิธีการเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะ โดยใช้ใบมีดขนาดเล็กเปิดที่เนื้อลูกอัณฑะเพื่อนำชิ้นเนื้ออัณฑะออกมาเล็กน้อย จะใช้ในกรณีที่เก็บด้วยวิธีทีซ่าแล้วไม่ได้เนื้ออสุจิ หรือได้ไม่เพียงพอต่อการรักษา
เมื่อไหร่ที่ต้องมีการเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะ
1. เก็บเพื่อการวินิจฉัย ในกรณีที่ตรวจน้ำเชื้อแล้วไม่พบตัวอสุจิ
ซึ่งสาเหตุใหญ่ๆ คือภาวะการอุดตันของท่อลำเลียงอสุจิ หรือลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างอสุจิได้ การตรวจจะทำให้ทราบว่า หากสาเหตุเกิดจากการอุดตันซึ่งจะพบอสุจิอยู่ในลูกอัณฑะก็สามารถเก็บมาผสมกับไข่ภายนอกด้วยวิธีอิกซี่และมีบุตรได้ ส่วนสาเหตุที่เกิดจากลูกอัณฑะไม่ผลิตอสุจิแล้วนั้น จะตรวจไม่พบตัวอสุจิที่โตเต็มวัย แต่จะพบแต่ตัวอสุจิระยะต้น ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่ต่ำมาก
2. เก็บเพื่อการรักษา ทำการผสมภายนอกร่างกาย
ในกรณีที่ทราบแล้วว่าในลูกอัณฑะสร้างอสุจิได้ หรือเคยมีบุตรมาก่อนแต่ทำหมัน หรือไม่ต้องการแก้หมัน หรือฝ่ายชายทำหมันมานานหลายปี ซึ่งโอกาสประสบความสำเร็จจากการแก้หมันมีต่ำ หรือในกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาน้ำเชื้ออ่อนมาก ร่วมกับเคยล้มเหลวจากการทำอิกซี่มาก่อน การเก็บอสุจิจากแหล่งกำเนิดโดยตรงทำให้ได้ตัวอสุจิที่สมบูรณ์ทางพันธุกรรมมากที่สุด จึงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากกว่า
3. กรณีที่ฝ่ายชายไม่สามารถเก็บเชื้อโดยวิธีธรรมชาติ
กรณีที่ฝ่ายชายไม่สามารถเก็บน้ำเชื้ออสุจิโดยวิธีธรรมชาติได้ แต่มีความจำเป็นต้องรักษาภาวะมีบุตรยากโดยวิธีผสมเด็กหลอดแก้ว