ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เป็นความผิดปกติในการทำงานของรังไข่ ที่ทำให้กระบวนการการโตของไข่หยุดชะงัก ทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการมีบุตรยาก
เมื่อกระบวนการการโตของไข่หยุดชะงัก ร่างกายจะสูญเสียกลไกการควบคุมการเจริญเติบโตของไข่ ทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด ประจำเดือนขาด สิวขึ้น ผิวมัน มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะยาว และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเมื่ออายุมากขึ้น
ไข่ไม่ตกเรื้อรัง พบได้มากถึงร้อยละสิบ
อุบัติการณ์พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ จะมีปัญหาเรื่องของภาวะไข่ไม่ตกเรื่อรังซ่อนอยู่ ซึ่งอาการของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไปในหลายรูปแบบ บางคนมีประจำเดือนมาสม่ำเสมอดี บางคนมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือนอยู่บ่อยๆ ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบได้บ่อย ก็เช่น สิวขึ้นไม่หาย ผิวมัน บางรายอ้วนมาก และบางรายมีขนดกกว่าปกติ หรือผมที่ศีรษะร่วงแบบผู้ชาย บางรายไม่มีอาการอะไรผิดปกติเลย ยกเว้นเพียงแค่ไม่มีบุตรและมาตรวจพบว่ามีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรังขณะตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
การตรวจวินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
การตรวจร่างกาย อาจจะไม่พบความผิดปกติอะไรเลย หรือพบว่ามีสิวมากกว่าปกติ ผิวมัน บางรายอ้วน หรือแม้แต่คนที่มีรูปร่างผอมบางก็พบได้บ่อย ส่วนการตรวจฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ จะพบภาวะความไม่สมดุลของฮอร์โมน การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด จะพบลักษณะของรังไข่ที่เฉพาะตัว คือจะเห็นไข่อ่อนอยู่ภายในรังไข่เป็นจำนวนมาก และจัดเรียงตัวอยู่ที่ผิวรังไข่คล้ายสร้อยไข่มุก ซึ่งเป็นลักษณะของการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ที่สรุปได้ว่าเป็นภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังได้ถูกต้องที่สุด
สิ่งที่ต้องระวังเมื่อมีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- กรณีที่ไม่ต้องการบุตร ควรป้องกันโรคบางอย่างที่จะพบร่วมกันได้ในอนาคต เช่น เบาหวาน ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกจะสูงขึ้นมากกว่าคนที่ไข่ตกตามปกติ
- กรณีที่ต้องการบุตร ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ขณะรักษาภาวะมีบุตรยากคือภาวะการตั้งครรภ์แฝดที่มากกว่าสอง และภาวะบวมน้ำจากการกระตุ้นไข่ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อชีวิตได้ ถ้าไม่สามารถควบคุมการกระตุ้นไข่ได้อย่างเหมาะสม
แนวทางการรักษาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
แนวทางการรักษาสำหรับผู้ที่มีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรังนั้น จะมีความแตกต่างจากภาวะไข่ไม่ตกธรรมดา หลักการของการรักษา คือการกระตุ้นให้มีการโตของไข่ ร่วมกับป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะรักษา
โดยธรรมชาติของผู้หญิงที่มีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรัง จะพบว่ารังไข่นั้นดื้อต่อการใช้ยากระตุ้นไข่ชนิดกิน แต่จะตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่ด้วยยาฉีดที่มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการกระตุ้นไข่เพื่อให้ได้ไข่ตกเพียงแค่ 1 หรือ 2 ใบ และใช้วิธีธรรมชาตินั้นอาจจะประสบความสำเร็จได้ยาก
ในขณะเดียวกันการกระตุ้นไข่ด้วยยาฉีด ก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนคือ การได้ไข่มากเกินความต้องการ ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีธรรมชาติได้ หรือถ้าใช้วิธีธรรมชาติอาจจะตั้งครรภ์แฝดที่มากเกินกว่าสองคน นอกจากนี้ยังเกิดภาวะบวมน้ำ คลื่นไส้อาเจียนอย่างมากในช่วงกระตุ้นไข่และช่วงตั้งครรภ์
แนวทางการรักษาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เพื่อรักษาการมีบุตรยาก มีดังนี้
- การใช้ยากระตุ้นไข่ตกชนิดกิน อาจจะใช้ร่วมกับยาบางตัวในการช่วยให้รังไข่ตอบสนองยากระตุ้นได้ดีขึ้น เช่น การใช้ยารักษาเบาหวาน Meformin ในกรณีที่ไม่ได้ผล สามารถรักษาขั้นต่อไป
- การใช้ยากระตุ้นไข่ชนิดฉีดขนาดต่ำที่สุด เพื่อกระตุ้นให้มีไข่แต่ต้องการจำนวนน้อยกว่า 3 ใบ ในกรณีกระตุ้นสำเร็จ อาจใช้การมีเพศสัมพันธ์ธรรมชาติถ้าน้ำเชื้อปกติ หรือใช้การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกในกรณีที่น้ำเชื้ออ่อนไม่มาก ถ้าไม่สำเร็จใช้วิธีการรักษาขั้นต่อไป
- การใช้ยากระตุ้นไข่ชนิดฉีดขนาดต่ำ เพื่อให้มีการโตของไข่หลายใบ เพื่อการผสมภายนอก ร่วมกับการแช่แข็งตัวอ่อน เพื่อรอการย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกหลังจากร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติในรอบประจำเดือนธรรมชาติ เป็นวิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่ควบคุมสภาวะฮอร์โมนในร่างกายไปด้วย เพื่อให้จำนวนไข่และระดับฮอร์โมนในร่างกายน้ันไม่สูงจนอยู่ในระดับที่อันตราย และการย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง นอกจากการฝังตัวจะสูงกว่ารอบกระตุ้นไข่แล้ว ยังลดภาวะแทรกซ้อนจากระดับฮอร์โมนที่สูงเกินไป ทำให้การควบคุมร่างกายช่วงกระตุ้นไข่และหลังเก็บไข่ทำได้ง่ายขึ้น เป็นการช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้อีกทางหนึ่ง
- การเก็บไข่อ่อนที่ไม่ได้ผ่านการกระตุ้นไข่ออกมาทางช่องคลอด และมาเลี้ยงให้โตในสภาวะที่เหมาะสม หลังจากนั้นนำมาผสมกับอสุจิด้วยวิธีอิกซี่ (ICSI) เพื่อเป็นตัวอ่อน และย้ายกลับเข้ามดลูกแบบเดียวกับการย้ายตัวอ่อนหลังการทำเด็กหลอดแก้ว วิธีนี้ช่วยหลีกเลี่ยงการกระตุ้นไข่ ทำให้ไม่เกิดภาวะบวมน้ำ แต่อัตราการตั้งครรภ์ยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการทำเด็กหลอดแก้วตามปกติ
จากวิธีการรักษาทั้งหมดนี้ หากได้รับการรักษาที่ควบคุมอย่างถูกต้องแล้ว จะทำให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์ที่สูง ภาวะแทรกซ้อนต่ำและควบคุมอาการแทรกซ้อนได้ดี สำหรับวิธีการทำเด็กหลอดแก้วให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด คือโอกาสในการตั้งครรภ์สูงที่สุด ในขณะเดียวกันสามารถควบคุมภาวะแทรกซ้อนได้จากการย้ายตัวอ่อนแช่แข็งทำให้ตั้งครรภ์แฝดได้เกินสอง และเกิดภาวะบวมน้ำจากการกระตุ้นไข่อยู่ในระดับที่ควบคุมและหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาหลังเก็บไข่ประมาณ 7 วัน การจะเลือกวิธีการรักษาใดๆ นั้นควรจะคำนึงถึงโอกาสในการตั้งครรภ์ร่วมกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการรักษา