ในการรักษาผู้มีบุตรยากสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงทารกผิดปกติ การตรวจโครโมโซมแบบอะเลย์ ซีจีเอช ซึ่งสามารถตรวจได้ทุกโครโมโซม รวมถึงโครโมโซมเพศด้วย จะทำให้การเลือกตัวอ่อนที่ปกติในแง่ของจำนวนโครโมโซมมีความถูกต้องมากขึ้น
ภาวะมีบุตรยากหมายถึงอะไร?
ตามความหมายทางการแพทย์ ภาวะมีบุตรยากหมายถึง การที่คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ได้คุมกำเนิด และมีเพศสัมพันธ์ที่สม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วยังไม่ตั้งครรภ์
ซึ่งหากสามีภรรยาคู่ใดมีปัญหาการมีบุตรยาก คือต้องการที่จะมีลูกและทราบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีลูกยาก เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ เคยได้รับอุบัติเหตุหรือได้รับการผ่าตัดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นรังไข่หรืออัณฑะ ก็สามารถมาปรึกษาแพทย์ได้โดยไม่ต้องรอให้ครบ 1 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงอายุเกิน 35 ปี
สาเหตุการมีบุตรยากจากฝ่ายชาย
ฝ่ายชายมักมีปัญหาเรื่องจำนวนเชื้ออสุจิน้อยเกินไป การเคลื่อนไหวและรูปร่างที่ผิดปกติของอสุจิ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา อาจเป็นได้ดังนี้
- พันธุกรรม ทำให้สร้างอสุจิได้น้อยกว่าปกติ หรือสร้างไม่ได้เลย
- การได้รับยา สารเคมีบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี ยาเสพติด การสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ยารักษาโรคบางชนิด
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ โรคทางต่อมไร้ท่อ
- การกระทบกระเทือนที่รุนแรง หรือการผ่าตัดบริเวณอัณฑะ
สาเหตุการมีบุตรยากจากฝ่ายหญิง
- อายุมากขึ้น มีความเครียด ปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัว การรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับสารเสพติด
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ โรคทางต่อมไร้ท่อ
- ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์แต่กำเนิด
- ท่อนำไข่ตีบตัน จากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิด ที่หรือเคยมีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานหรือจากการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน ทำให้มีพังผืด
- รังไข่ทำงานไม่ปกติ เช่น ประจำเดิอนไม่มา หรือมาผิดปกติ มีซีสต์ มีเนื้องอกรังไข่
แพทย์จะทราบได้อย่างไรว่า อะไรคือสาเหตุในการมีลูกยากของคนไข้
- แพทย์จะซักประวัติฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย
- สำหรับฝ่ายหญิง จะสอบถามประวัติ เช่น การมีประจำเดือน การปวดท้องประจำเดือน ประวัติการเจ็บป่วย เช่น เคยมีการอักเสบของอุ้งเชิงกราน หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใดบ้างหรือไม่
- สำหรับฝ่ายชาย จะสอบถามประวัติ การได้รับอุบัติเหตุ การทำหมัน การติดเชื้อที่ระบบหรืออวัยวะสืบพันธุ์ เป็นต้น
- ทำการตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อดูความแข็งแรงของร่างกาย
- ทำการตรวจน้ำเชื้อของฝ่ายชาย
- สำหรับฝ่ายหญิง จะทำการตรวจภายใน อัลตราซาวด์เพื่อดูความผิดปกติของมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ หรือ ทำการฉีดสีเข้าไปในโพรงมดลูกแล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ในการหาความผิดปกติในโพรงมดลูกและท่อนำไข่
เมื่อพบความผิดปกติที่เป็นสาเหตุ แพทย์จะรักษาที่สาเหตุก่อน เช่น หากพบเนื้องอกมดลูกที่เป็นปัญหาต่อการตั้งครรภ์ ก็จะทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก เป็นต้น ถ้าแก้ไขที่สาเหตุแล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้โดยธรรมชาติ แพทย์จะให้คำปรึกษาแก่คู่สมรส โดยอาจเลือกใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์
เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์
จากสาเหตุของทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีหลากหลายประการ แพทย์จะเริ่มต้นที่การค้นหาสาเหตุ และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเสียก่อน หลังจากนั้นถ้าหากไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองโดยธรรมชาติก็จะมาพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยพิจารณาปัจจัยหลักในเรื่อง อัตราความสำเร็จ ค่าใช้จ่าย ผลแทรกซ้อน การเจ็บตัวที่น้อยที่สุด เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีหลายวิธีได้แก่ การผสมเทียม การทำกิฟท์ การทำซิฟท์ การทำเด็กหลอดแก้วและการทำอิ๊กซี่
1. การผสมเทียม (Intrauterine Insemination , IUI)
เหมาะสำหรับผู้ชายที่มีปัญหาเรื่องเชื้ออสุจิไม่ปกติ แต่ฝ่ายหญิงมีมดลูกในสภาพที่ดีและท่อนำไข่ไม่ตีบตัน โดยจะทำการกระตุ้นไข่ และนำเชื้ออสุจิของฝ่ายชายมาฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกในวันที่ไข่ตก โดยคัดอสุจิตัวที่แข็งแรงฉีดเข้าไป
2. การทำกิฟท์ (Gamete Intrafallopian Transfer , GIFT)
เป็นวิธีการดั้งเดิมที่เรายังไม่สามารถเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพได้ซึ่งในปัจจุบันนี้เราไม่ได้ใช้วิธีนี้แล้ว ซึ่งทำได้โดยการกระตุ้นรังไข่ด้วยฮอร์โมนแล้วทำการส่องกล้องเข้าไปในช่องท้องเพื่อเก็บไข่แล้วนำไข่มารวมกับอสุจิที่เตรียมไว้แล้วฉีดกลับเข้าไปในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง โดยเจาะผ่านผนังหน้าท้อง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายในร่างกาย
3. การทำชิฟท์ (Zygote Intrafallopian Transfer, ZIFT)
ในปัจจุบันนี้ การทำเด็กหลอดแก้วเป็นกระบวนการช่วยการเจริญพันธุ์ที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน ท่อนำไข่อุดตัน ไข่ไม่ตกเนื่องจากระบบฮอร์โมน ฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ เช่น เชื้ออสุจิน้อย เคลื่อนไหวไม่ดี
วิธีนี้ทำได้โดยมีการกระตุ้นรังไข่จนฟองไข่ได้ขนาดที่เหมาะสม และทำการเก็บไข่ผ่านช่องคลอด แล้วนำไข่ที่ได้มาผสมกับอสุจิในห้องปฏิบัติการจนปฏิสนธิ แล้วเลี้ยงตัวอ่อน 3-5 วัน ต่อจากนั้นจึงนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์ต่อไป อัตราความสำเร็จต่อรอบจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์
4. การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection , ICSI)
เป็นการช่วยการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการทำเด็กหลอดแก้ว โดยจะใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายมีอสุจิคุณภาพไม่ดี แพทย์จะคัดเลือกตัวอสุจิที่ดีที่สุดภายใต้กล้องจุลทรรศน์แล้วฉีดเข้าไปที่เซลล์ไข่โดยตรงให้เกิดการปฏิสนธิ (ซึ่งต่างจากเด็กหลอดแก้ว คือ ให้อสุจิและไข่ผสมกันเอง ด้วยการใส่ไว้ด้วยกัน) เมื่อเลี้ยงตัวอ่อน 3-5 วัน จึงนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกอัตราความสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์
การเตรียมความพร้อมสำหรับ “การใช้เทคโนโลยีช่วยการตั้งครรภ์”
- ผู้หญิงไม่ควรรอให้อายุเกิน 35 ปี เพราะว่ามีความเสี่ยง ถึงแม้จะตั้งครรภ์ได้แต่อาจเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของโครโมโซมของทารก เสี่ยงต่อการแท้ง ฉะนั้นควรมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรออายุมาก เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้อัตราความสำเร็จของการตั้งครรภ์ลดลงตามลำดับด้วยเช่นกัน
- การเตรียมสุขภาพให้สมบูรณ์ งดการสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์
- การตรวจร่างกาย หาโรคอื่นๆ เพื่อทำการรักษาก่อนเริ่มกระบวนการรักษาการมีบุตรยาก
- ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอหลีกเลี่ยงความเครียด
การเตรียมตัวก่อนเก็บอสุจิของผู้ชาย เพื่อใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก
- ควรงดหลั่งอสุจิอย่างน้อย 3 วัน ไม่เกิน 7 วัน เพื่อสะสมปริมาณของอสุจิ
- งดการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
ประจำเดือนกับ “สัญญาณ”บ่งบอกภาวะมีลูกยาก
- รอบของการมีประจำเดือนปกติ ควรเป็น 21-35 วัน ถ้าถี่หรือห่างกว่านี้ อาจมีความผิดปกติของการตกไข่ โดยมักพบในผู้หญิงน้ำหนักตัวมาก หรือภาวะฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติ
- ประจำเดือนมาน้อย อาจมีภาวะเยื่อบุมดลูกบางผิดปกติ หรือมีพังผืดในโพรงมดลูก
- ประจำเดือนมามาก อาจมีเนื้องอกมดลูก หรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
- ประจำเดือนมากกว่าปกติ เช่น โรคเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ หรือมีเนื้องอกมดลูก
- บางรายอาการไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูกบ่อย คลำพบก้อนที่ท้องน้อย อาจจะเป็นโรคเนื้องอกมดลูกที่ไปกดเบียดอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้
หากสังเกตแล้วว่า มีความผิดปกติเข้าข่ายสงสัย “ภาวะมีลูกยาก” สาวๆ ที่ต้องการมีลูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเราโดยตรง ไม่ใช่เฉพาะปัญหาเรื่องมีลูกยากเท่านั้น
เคล็ดลับในการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ก่อนถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- การนับวันไข่ตกเป็นวันที่ 14-16 ของรอบเดือน โดยเริ่มนับตั้งแต่การมีประจำเดือนวันแรก จะใช้ได้เฉพาะหญิงที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอในรอบ 28-30 วันเท่านั้น
- ฝ่ายชายควรงดเพศสัมพันธ์ก่อนวันไข่ตกอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อสะสมปริมาณของอสุจิ
- สารหล่อลื่นบางชนิด มีสารฆ่าอสุจิ ควรพิจารณาก่อนใช้
- อายุที่มากขึ้นของสามีและภรรยา ทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ยากขึ้น
- ผู้ชายอ้วน จำนวนอสุจิ และความเข้มข้นของน้ำอสุจิลดลง
- ผู้หญิงอ้วน มักมีปัญหาการมีประจำเดือนและการตกไข่
- การดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับยาบางชนิด การรับสารพิษทำให้อสุจิไม่แข็ง และมีจำนวนน้อยลง เช่น สารนิโคตินในบุหรี่มีผลต่อคุณภาพของอสุจิ และอาจทำให้ลดความรู้สึกทางเพศ ฉะนั้นควรงดสูบบุหรี่
- ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย มีผลต่อฮอร์โมนและความรู้สึกทางเพศ
- ความร้อนมีผลต่อคุณภาพของอสุจิ จึงควรหลีกเลี่ยงให้อัณฑะถูกความร้อนมากๆ เช่น การอบซาวน่า การแช่น้ำอุ่นน้ำร้อน การขี่มอเตอร์ไซด์ท่ามกลางแดดร้อนจัด เพราะอาจทำให้การสร้างอสุจิน้อยล