สาเหตุภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชาย

ในทางการแพทย์ ปัญหาเรื่องการมีบุตรยากโดยทั่วไปจะหมายถึง การที่คู่รักใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีแล้ว แต่ฝ่ายหญิงยังไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ ซึ่งในปัจจุบันภาวะมีบุตรยากนี้พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกกลุ่มอายุ

จริงๆ แล้วการมีบุตรยากไม่ได้เกิดจากปัญหาของฝ่ายหญิงเท่านั้น เพราะในฝ่ายชายเองก็เป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากได้ถึงร้อยละ 30-40 ซึ่งถือว่าพบได้ในสัดส่วนที่เท่ากันกับทางฝ่ายหญิง ดังนั้นการตรวจหาสาเหตุจึงควรทำร่วมกันทั้งสองฝ่าย

สาเหตุใดบ้างที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย

สาเหตุส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องของน้ำเชื้อหรืออสุจิที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และมีความผิดปกติของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ดังนี้

  1. กระบวนการการสร้างตัวอสุจิที่ผิดปกติ ซึ่งสาเหตุอาจจะเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดเนื่องจากความผิดปกติของโครโมโซม ลูกอัณฑะไม่ลงในถุงอัณฑะ หรือพบในภายหลัง เช่น มีการติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ ที่พบได้บ่อยคือเชื้อไวรัสคางทูมที่ลงไปที่ลูกอัณฑะ หรืออาจเกิดจากเส้นเลือดขอดที่ลูกอัณฑะ หรือเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากยา เช่น ยาลดความดันโลหิต สารเคมี ความร้อน แต่ส่วนใหญ่มักจะหาสาเหตุใดๆ ไม่พบ
  2. มีความผิดปกติที่การลำเลียงอสุจิออกมาจากลูกอัณฑะ ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากการทำหมันผูกท่อลำเลียงอสุจิ
  3. ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อตัวอสุจิ ซึ่งอาจเกิดจากการแก้หมันชายในรายที่ทำหมันมานาน หรือเกิดจากการติดเชื้อ และส่วนใหญ่หาสาเหตุไม่พบ
  4. ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติไม่ได้ เช่น มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว การไหลย้อนของน้ำอสุจิเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ การไม่มีความต้องการทางเพศ การได้รับอุบัติเหตุบริเวณเส้นประสาทที่กระดูกสันหลัง การผ่าตัดต่อมลูกหมาก หรือได้รับยาบางตัวที่มีผลทำให้หลั่งน้ำเชื้อไม่ได้
  5. ปัญหาที่ระดับฮอร์โมนเพศที่มาควบคุมการสร้างอสุจิ บางรายอาจมีปัญหาขาดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองโดยกำเนิด หรือเป็นเนื้องอกที่ต่อมใต้สมองไปขัดขวางการสร้างฮอร์โมนที่จะมากระตุ้นที่ลูกอัณฑะ การใช้ฮอร์โมนเพศชายในนักเพาะกาย ทำให้กดการสร้างฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง และมากระตุ้นที่ลูกอัณฑะไม่ได้

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ ปัญหาของฝ่ายชายมักจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมา บางรายอาจมีปัญหาเรื่องอวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือสังเกตว่าปริมาณน้ำอสุจิที่หลั่งออกมานั้นดูว่าน้อยกว่าปกติ มีประวัติเรื่องของอุบัติเหตุบริเวณลูกอัณฑะ หรือเคยมีคางทูมลงที่ลูกอัณฑะมาก่อน เมื่อหาสาเหตุพบ แพทย์ก็จะวางแผนการรักษาที่ต้นเหตุ หรือรักษาเพื่อให้ได้ตัวอสุจิที่มีคุณภาพสำหรับการผสมเทียมต่อไป


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors