ในทางการแพทย์ ปัญหาเรื่องการมีบุตรยากโดยทั่วไปจะหมายถึง การที่คู่รักใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ ซึ่งในปัจจุบันภาวะมีบุตรยากนี้พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกกลุ่มอายุ
อุบัติการณ์ของภาวะมีบุตรยากของคู่ที่อยู่ด้วยกันมาแล้วหนึ่งปีโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 15 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การแต่งงานช้า เพราะต้องเรียนให้จบสูงๆ การทำงานที่เคร่งเครียด การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ สารพิษ การกินอยู่หลับนอนในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้คุณภาพ รวมทั้งทัศนคติของการมีบุตรที่เปลี่ยนไป ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้การตั้งครรภ์หรือการมีบุตรตามธรรมชาตินั้นเกิดได้ยากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก พบได้ทั้งจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
สำหรับสาเหตุของภาวะมีบุตรยากนั้น โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ
- สาเหตุทางฝ่ายชาย พบได้ 30-40% จากสาเหตุทั้งหมด
- สาเหตุทางฝ่ายหญิง พบได้ 30-40% จากสาเหตุทั้งหมด
- ตรวจไม่พบสาเหตุอีกประมาณ 10%
จะเห็นได้ว่าฝ่ายหญิงและฝ่ายชายน้ันรับผิดชอบสาเหตุของภาวะมีบุตรยากกันคนละครึ่ง และยังพบสาเหตุจากทั้งสองฝ่ายพร้อมกันได้ประมาณ 10% ดังน้ันการตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากจึงควรตรวจทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ซึ่งจะทำให้เกิดการวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นการร่นระยะเวลาการรักษาเพื่อให้คู่รักมีโอกาสมีบุตรได้มากกว่าการรักษาที่ไม่ตรงกับสาเหตุ ดังนั้น เมื่อมีปัญหามีบุตรยาก ทั้งสองคนควรจูงมือกันมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะนอกจากจะได้ตรวจให้ครบถ้วยแล้ว ยังเป็นการให้กำลังใจแก่กันและกันได้เป็นอย่างดี
ภาวะไข่ไม่ตก สาเหตุสำคัญของภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง
ถ้ามาดูกันเฉพาะฝ่ายหญิง สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ “ภาวะไข่ไม่ตก” การที่ฝ่ายหญิงมีประจำเดือนมาได้ทุกเดือนนั้น ไม่ได้หมายความถึงการมีการตกไข่เสมอไป ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าการตกไข่กับการมีประจำเดือนเป็นเรื่องเดียวกัน
ในความเป็นจริงคนที่มีการตกไข่ได้ตามปกติ ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอทุกๆ 28 วัน ส่วนคนที่ประจำเดือนมาได้ทุกเดือน แต่ไม่สม่ำเสมอ รอบประจำเดือนอาจจะสั้นๆ ยาวๆ เลือดออกกะปริบกะปรอยบ้างนั้น มักจะเป็นรอบประจำเดือนที่ไม่มีการตกไข่ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คนที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอนั้นสามารถเกิดในรอบที่มีการตกไข่หรือไม่มีการตกไข่ก็ได้ ส่วนคนที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอนั้น มักจะเกิดจากรอบที่ไม่มีการตกไข่
ซึ่งความหมายของคำว่า “ภาวะไข่ไม่ตก” นั้น โดยแท้จริงแล้ว หมายความถึงภาวะที่ไม่มีการเจริญเติบโตของไข่จนกระทั่งเป็นไข่ที่โตเต็มที่ในช่วงกึ่งกลางรอบเดือน จึงไม่มีไข่ที่ตกออกมาจากรังไข่และเดินทางเข้าท่อนำไข่ทางปากแตร (fimbrial end) เพื่อไปพบกับอสุจิที่เดินทางมาถึงท่อนำไข่นั่นเอง
ปกติแล้ว ไข่ที่โตเต็มที่นั้นจะมีขนาดประมาณ 2 ซม. ซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศเอสตราไดออล (estradiol) และฮอร์โมนเพศเอสตราไดออลจะไปกระตุ้นที่ต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมน LH (luteinizing hormone) เพื่อมาบังคับให้ไข่ตกเองตามธรรมชาติ ดังนั้นในรายที่ไข่ไม่มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ จึงไม่มีการสร้างฮอร์โมนเอสตราไดออลเพื่อไปกระตุ้นฮอร์โมนที่ต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนมาช่วยให้ไข่ตก จึงไม่มีการตกไข่นั่นเอง
ท่อนำไข่อุดตัน สาเหตุอันดับสองของการมีบุตรยากในผู้หญิง
สาเหตุของฝ่ายหญิงที่พบได้อันดับที่สองคือ ภาวะ “ท่อนำไข่อุดตัน” ท่อนำไข่เป็นอวัยวะส่วนที่ต่อมาจากส่วนของมดลูก ซึ่งเป็นท่อที่ทำให้ไข่กับอสุจิไปพบกัน ต่างคนต่างมาพบกันครึ่งทางที่ประมาณกลางท่อนำไข่ และปฏิสนธิกันตามธรรมชาติ หลังจากน้ันตัวอ่อนที่ผสมแล้วจะเคลื่อนตัวออกจากท่อนำไข่มาฝังตัวในมดลูก และเจริญพัฒนาเป็นทารกต่อไป
เมื่อท่อนำไข่อุดตัน ไม่ว่าจะอุดตันที่ส่วนไหนๆ ของท่อนำไข่ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของไข่และอสุจิ ทำให้ไข่กับอสุจิไม่ได้พบกัน ดังน้ันการปฏิสนธิตามธรรมชาติจึงไม่เกิดขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดท่อนำไข่อุดตันมักเกิดจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในอดีต ซึ่งอาจจะไม่มีอาการในบางราย แต่หลังการอักเสบหายไป สิ่งที่ยังหลงเหลือคือการเกิดพังผืดในท่อนำไข่ ทำให้ท่ออุดตัน และส่วนหนึ่งก็มักจะมีพังผืดภายนอกบริเวณผิวมดลูกกับรังไข่และท่อนำไข่ร่วมด้วย
พังผืดในอุ้งเชิงกราน หนึ่งในปัจจัยเกิดภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง
สาเหตุที่พบได้รองลงไปคือการมี “พังผืดในอุ้งเชิงกราน” ซึ่งเป็นอุปสรรคอีกทางของการพบกันระหว่างอสุจิกับไข่ พังผืดในอุ้งเชิงกรานนั้นเปรียบเสมือนแผลเป็นที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบางๆ
พังผืดเหล่านี้อาจจะไปพันรัดกับส่วนของอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ทำให้ไปขัดขวางการตกไข่ พังผืดจะเกิดจากกระบวนการการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บจากการผ่าตัด การติดเชื้อและมีการอักเสบ หรือเกิดจากโรคในอุ้งเชิงกรานบางอย่าง เช่นโรค เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หลังการผ่าตัดและหลังการติดเชื้อ สิ่งที่หลงเหลือคือการหายของบาดแผลและมีพังผืด พังผืดเหล่านี้อาจจะไม่ทำอันตราย แต่ถ้ามีปริมาณมากๆ หรือไปอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น อาจจะเกิดขึ้นล้อมรอบท่อนำไข่ รัดให้ท่อนำไข่ตัน หรือไปคลุมผิวรังไข่ ทำให้ไข่ตกออกจากรังไข่ไม่ได้ หรือไปรัดที่ลำไส้ทำให้เกิดลำไส้อุดตัน ก็เป็นปัญหาได้