การทำเด็กหลอดแก้วด้วยการทำผสมเทียมแบบ IVF และแบบอิ๊กซี่ (ICSI) มีวิธีทำที่สำคัญๆ ถึง 7 ขั้นตอน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ผู้มีภาวะมีบุตรยากตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น
การทำเด็กหลอดแก้ว ด้วยการทำ IVF (In Vitro Fertilization)
มีวิธีการใน 7 ขั้นตอน ตามลำดับดังนี้
- การใช้ยากระตุ้นให้มีการตกไข่หลายใบและให้ไข่สุกพร้อมๆกัน
- เก็บไข่ที่ได้รับการกระตุ้นแล้วออกมาเพื่อรอการผสม
- การคัดแยกตัวอสุจิออกจากน้ำอสุจิเพื่อรอสำหรับการผสมกับไข่
- ไข่กับอสุจิผสมกันในห้องปฎิบัติการเพื่อให้ได้ตัวอ่อน
- เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฎิบัติการจนถึงระยะที่ตัวอ่อนสามารถฝังตัวได้
- ย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่มดลูก
- แช่แข็งตัวอ่อนส่วนที่เหลือจากการย้ายตัวอ่อน
1. กระตุ้นการตกไข่
วันที่สองหรือสามของการมีประจำเดือน แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายซึ่งเป็นการประเมินการทำงานของรังไข่ และตรวจอัลตราซาวด์เพื่อนับจำนวนไข่อ่อนที่ร่างกายผลิตออกมาในรอบประจำเดือนนั้น
การใช้ยากระตุ้นไข่ โดยทั่วไปยาที่ใช้กระตุ้นให้มีไข่ตกหลายๆ ใบจะเป็นยาฉีดกระตุ้นไข่ ซึ่งโปรแกรมการกระตุ้นไข่จะมีหลายแบบ สำหรับโปรแกรมการกระตุ้นไข่ที่โรงพยาบาลพญาไทศรีราชาจะใช้เพียงแบบเดียว เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่สะดวกประกอบกับได้ผลในการรักษาสูง คือ การเริ่มต้นฉีดยาวันที่สองหรือสามของรอบประจำเดือน หลังจากที่ได้ทำการตรวจวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายเพื่อประเมินการทำงานของรังไข่แล้ว จึงเริ่มต้นด้วยขนาดยากระตุ้นที่เหมาะสมกับแต่ละคน โดยพิจารณาจากผลฮอร์โมนและการตรวจอัลตราซาวด์ ร่วมกับอายุของฝ่ายหญิง สำหรับชนิดของยาฉีดเพื่อกระตุ้นไข่นั้นโดยทั่วไปจะมีประมาณ 2-3 ชนิด
โดยชนิดแรก จะเป็นยากระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตของไข่หลายใบก่อน (Recombinant FSH) เป็นระยะเวลาประมาณ 5 วัน จากนั้นจึงเริ่มต้นการฉีดยาชนิดที่สอง ซึ่งเป็นยากันไม่ให้ไข่ตกก่อนเวลา (GnRH antagonist) เนื่องจากมีไข่หลายใบ ถ้าไม่มียากันไข่ตก ไข่จะตกก่อนที่จะเก็บได้
ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฉีดยากระตุ้นไข่ต่อเนื่องเป็นเวลา 10-12 วัน ในระหว่างนี้จะมีการตรวจระดับฮอร์โมน และการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ประมาณ 3 ครั้ง และกำหนดวันที่จะเก็บไข่ออกมาจากร่างกาย โดยพิจารณาจากขนาดไข่เป็นหลัก โดยทั่วไปขนาดไข่ที่เหมาะสมสำหรับการเก็บมาผสมนั้นควรมีขนาดประมาณ 18 mm เป็นต้นไป จึงเริ่มฉีดยาชนิดสุดท้าย (hCG) เพื่อให้ไข่สุกพร้อมๆ กัน และตกในอีก 36 ชั่วโมงถัดมา
2. การเก็บไข่
การเก็บไข่ออกจากร่างกายโดยผ่านทางช่องคลอด โดยใช้เข็มขนาดเล็กที่แนบหัวตรวจอัลตราซาวด์ขนาดเล็กเพื่อใช้สำหรับการตรวจหาไข่ขณะเจาะดูด การเก็บไข่จะทำภายใต้การใช้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือด หลังจากผู้รับบริการหลับสนิท จึงทำการดูดไข่ออกมาโดยใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยหาไข่ ซึ่งใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง สารน้ำที่ถูกดูดออกมาจะถูกนำมาตรวจหาไข่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เมื่อพบแล้วจึงทำการเก็บไข่ที่ได้มาเลี้ยงในน้ำยาเลี้ยงไข่เพื่อเตรียมสำหรับการผสม
3. เก็บและคัดแยกตัวอสุจิ
การคัดแยกตัวอสุจิออกจากน้ำอสุจิเพื่อให้อสุจิพร้อมสำหรับการผสมกับไข่ ฝ่ายชายควรงดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 3 วันไม่เกิน 7 วัน โดยเก็บน้ำเชื้อด้วยวิธีการช่วยตัวเองให้หลั่งออกมาในภาชนะปลอดเชื้อสำหรับการทำเด็กหลอดแก้วโดยเฉพาะ น้ำเชื้อที่ได้นั้นจะต้องส่งถึงห้องปฏิบัติการเพื่อการแยกตัวอสุจิไม่เกินครึ่งชั่วโมงหลังหลั่งออกมา มิฉะนั้นตัวอสุจิจะสูญเสียประสิทธิภาพในการผสมกับไข่ ตัวอสุจิที่ผ่านการคัดแยกแล้วจะได้รับการเติมสารอาหารเพื่อให้วิ่งเร็วและพร้อมจะผสมต่อไป
ขั้นตอนการปั่นล้างน้ำอสุจิโดยผ่านชั้นของน้ำยาคัดแยกตัวอสุจิ และปั่นให้ตกตะกอน หลังการคัดแยกจะได้ตัวอสุจิที่มีชีวิต เพื่อนำมาผสมกับไข่
4. ผสมไข่กับอสุจิ
การผสมไข่กับอสุจิ ในกรณีของการทำเด็กหลอดแก้วแบบมาตรฐานนั้น เราจะปล่อยให้ตัวอสุจิว่ายน้ำไปผสมกับไข่เอง (IVF) โดยใส่จำนวนตัวอสุจิให้มากพอสำหรับไข่ และทิ้งระยะเวลาไว้ให้เหมาะสม หลังจากนั้นจึงนำไข่มาตรวจการผสมว่าเป็นตัวอ่อนหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้จะไม่สามารถใช้ได้กับฝ่ายชายที่มีปริมาณน้ำเชื้อน้อยหรือคุณภาพของอสุจิน้อยกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งเสี่ยงสูงต่อการที่ไข่จะไม่ได้รับการผสมเลย ดังน้ันในกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาน้ำเชื้ออ่อนร่วมด้วย ควรใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้วแบบอิ๊กซี่ (ICSI)
5. เลี้ยงตัวอ่อน
การเลี้ยงตัวอ่อนในตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแบ่งเซลล์ จากหนึ่งเซลล์เป็นสองเซลล์ สี่เซลล์ แปดเซลล์ตามลำดับ หลังจากนั้นตัวอ่อนสามารถได้รับการคัดเลือกเพื่อย้ายกลับเข้ามดลูก หรือเลี้ยงต่อเพื่อรอการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ (Blastocyst)
6. ย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก
การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูกนั้นเหมือนการตรวจภายในธรรมดา ไม่จำเป็นต้องได้รับยาระงับความเจ็บปวดหรือจำเป็นต้องหลับ ยกเว้นบางกรณีเช่นฝ่ายหญิงมีปัญหาไม่สามารถใส่เครื่องมือเข้าปากช่องคลอดได้หรือมีความกังวลมากๆ การใช้ยาให้หลับจะทำให้การย้ายตัวอ่อนทำได้อย่างราบรื่นมากขึ้นได้
การย้ายตัวอ่อนเริ่มจากการใช้สายย้ายตัวอ่อนขนาดเล็กมากๆ ทำการดูดตัวอ่อนและสอดผ่านปากมดลูกเพื่อวางตัวอ่อนไว้บนเยื่อบุโพรงมดลูก โดยทั่วไปการย้ายตัวอ่อนโดยการใช้อัลตราซาวด์เพื่อหาตำแหน่งวางตัวอ่อนที่เหมาะสมที่สุดนั้นจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากกว่าการย้ายตัวอ่อนโดยไม่ใช้อัลตราซาวด์ เนื่องจากโครงสร้างทางกายวิภาคของฝ่ายหญิงมีความแตกต่างกัน
7. แช่แข็งตัวอ่อนที่เหลือ
การแช่แข็งตัวอ่อนที่เหลือจากการย้ายตัวอ่อน ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยให้โอกาสในการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วในปัจจุบันสูงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ด้วยวิธีการแช่แข็งตัวอ่อนที่ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน ปัจจุบันเราสามารถเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ได้นานหลายปี สามารถกลับมาย้ายตัวอ่อนในภายหลังได้โดยไม่ต้องกระตุ้นไข่ใหม่
เยื่อบุที่เจริญพัฒนาขึ้นมาในรอบย้ายตัวอ่อนแช่แข็งจะมีการเจริญเติบโตที่เหมือนธรรมชาติ ซึ่งต่างกับเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญขึ้นมาในรอบกระตุ้นไข่ ที่มีโอกาสจะเจริญเติบโตมากเกินไปตามการเจริญเติบโตของไข่ได้ ดังนั้นการย้ายตัวอ่อนสดจึงเสี่ยงที่เยื่อบุจะมีการเจริญพัฒนาที่มากเกินไปตามการเจริญเติบโตของไข่ ทำให้ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ดังน้ันการย้ายตัวอ่อนแช่แข็งจึงอาจจะให้ผลสำเร็จมากกว่าการย้ายตัวอ่อนสด ในกรณีที่มีการกระตุ้นของไข่จำนวนหลายๆ ใบ
การแช่แข็งตัวอ่อนในปัจจุบันมีหลายวิธี ทางโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ได้พัฒนาเทคนิคการแช่แข็งตัวอ่อนแบบผลึกแก้ว และเตรียมน้ำยาที่เฉพาะสำหรับการแช่แข็งโดยเฉพาะโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีประสบการณ์ในการแช่แข็งตัวอ่อนด้วยวิธีดังกล่าวมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี เป็นวิธีที่ให้อัตราการรอดหลังละลายตัวอ่อนสูงมากถึงมากกว่า 95% และตัวอ่อนมีโอกาสเจริญพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ได้สูงไม่แตกต่างไปจากตัวอ่อนที่ไม่ได้ผ่านการแช่แข็ง
ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า การย้ายตัวอ่อนนั้นสามารถทำได้ทั้งการย้ายตัวอ่อนรอบสดหรือหมายถึงหลังการเก็บไข่แล้วมีการย้ายตัวอ่อนใส่เข้าในโพรงมดลูกเลย หรือการย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง ซึ่งมีโอกาสในการฝังตัวของตัวอ่อนสูงกว่าการย้ายสด เนื่องจากมีเทคนิคการเก็บรักษาตัวอ่อนที่มีคุณภาพไว้ได้เป็นอย่างดี