หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ปวดไม่หายถ้าไม่รักษา

หมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยคั่นกลางรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละคู่โดยหมอนรองกระดูกนี้จะมีลักษณะยืดหยุ่นจึงทำให้สันหลังเคลื่อนไหวได้อย่างนุ่มนวล

แต่หากเกิดความผิดปกติ อย่างเช่น มีการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกไปรบกวนหรือไปกดทับถูกรากประสาท ก็จะทำให้มีอาการปวดหลังร้าวลงขา ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของ “โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท” จากการที่ “รากประสาทถูกกดทับ” นั่นเอง

คนกลุ่มไหนที่เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท มักพบในผู้ที่มีอายุ 20-40 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงราว 2 เท่า มักเกิดกับผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือมีแรงกระเทือนบริเวณหลัง คนที่แบกของหนักบ่อยๆ หรือนั่งทำงานในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุให้มีการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกได้ ส่วนตำแหน่งที่พบบ่อยของการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูก คือ หมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณกระเบนเหน็บ หรือระดับบั้นเอว

อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

คนที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักจะมีอาการปวดหลังตรงระดับบั้นเอว หรือกระเบนเหน็บ ร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา คือจากบริเวณแก้มก้นลงไปที่น่อง หรือปลายเท้าด้านข้าง หรือด้านนิ้วก้อยข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดอาการขณะยกของหนักๆ แล้วปวดหลังทันที มักปวดมากเวลาก้มหรือนั่ง เวลาไอ จาม หรือเบ่งถ่าย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่รักษาก็อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาตามมาได้

อันตรายของโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดหลังและปวดขาเรื้อรัง ซึ่งสร้างความรำคาญ ความทุกข์ทรมาน อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ป่วยและญาติ แต่จริงๆ แล้วโรคนี้หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีอันตรายร้ายแรง คือสามารถทำให้อาการทุเลา หายดี และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่เป็นปกติได้

วิธีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท

  1. ฉีดยาลดอาการอักเสบในโพรงไขสันหลัง (ESI) เพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูก หรือกระดูกทับเส้นประสาท
  2. ฉีดยาเฉพาะที่ในโพรงรากประสาท (SNRB) เพื่อลดอาการอักเสบ และระงับความปวด
  3. ฉีดสารซีเมนต์เหลวในปล้องกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty) เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุน

การพิจารณารักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเริ่มได้ตั้งแต่ การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาเข้าช่องโพรงกระดูกสันหลัง ไปจนถึงการผ่าตัด โดยหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน ก่อนกลับบ้านและใช้ชีวิตตามปกติได้

แต่ทั้งนี้ ในการรักษาของทุกวิธีที่กล่าวมา จะต้องได้รับการตรวจ วินิจฉัย และทำการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด

หากคุณเริ่มมีอาการปวดหลัง ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ ซึ่งทางโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา มีแพทย์เฉพาะทางประจำศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ คอยให้คำปรึกษา และพร้อมตรวจรักษาในทุกๆ วัน


ปรึกษาแพทย์


    Related Doctors