โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่เกิดขึ้นและลุกลามอย่างช้าๆ โดยไม่แสดงอาการอย่างชัดเจนในระยะแรก ทำให้หลายคนไม่ทราบว่าตนเองกำลังเป็นโรคนี้อยู่
ดังนั้นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง แม้จะยังไม่มีอาการ ก็ควรหมั่นเข้ารับการตรวจคัดกรองกับแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ เพื่อการตรวจ วินิจฉัย วางแผนการป้องกัน หรือรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นใหม่ๆ หากพบโรค เพื่อช่วยให้กลไกการลุกลามของโรคเกิดช้าลง และสามารถใช้ข้อต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติไปอีกยาวนาน
โรคข้อเสื่อมคืออะไร ใครบ้างคือกลุ่มเสี่ยง?
โรคข้อเสื่อม คือโรคในกลุ่มข้ออักเสบประเภทหนึ่ง บุคคลที่เสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อม มีดังนี้
- อายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ทั้งชายและหญิง ที่ทำงานหนัก หรือใช้ข้อมาก
- อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 80-90
- คนอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานมากๆ จะเกิดข้อเสื่อมเร็วขึ้น โดยเฉพาะข้อที่ใช้รับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก
- ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้ข้อ หรือมีพฤติกรรมในการใช้ข้อไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งคุกเข่าเป็นเวลานานๆ เป็นประจำ
- ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เคยมีการติดเชื้อในข้อหรือมีการบาดเจ็บของข้อ จะมีการทำลายกระดูกอ่อนที่ผิวข้อทำให้ข้อเสื่อมได้ง่าย
ลักษณะหรือภาวะของข้อเสื่อม
ข้อเสื่อม คือ ภาวะที่มีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่อยู่ส่วนปลายจุดเชื่อมกระดูก 2 ท่อน ซึ่งกระดูกอ่อนก็คือส่วนผิวข้อของกระดูกที่มีหน้าที่ช่วยลดแรงกระแทกใดๆ ต่อข้อ มีหน้าที่ทำให้ข้อต่างๆ เคลื่อนไหวได้ดี ปกติแล้วกระดูกอ่อนจะมีลักษณะเป็นกระดูกผิวเรียบ มีความยืดหยุ่นสูง
อาการของคนที่กระดูกอ่อนสึก
- อาจเกิดเสียงดังเวลาเคลื่อนไหวขยับข้อ ในบางรายอาจมีกระดูกงอกใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นกลไกของร่างกายที่พยายามสร้างความแข็งแรงให้กับข้อ
- เจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหว เนื่องจากข้อกระดูกแท้เสียดสีกัน บางรายมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ร่างกายพยายามจะไม่เคลื่อนไหวบริเวณที่เจ็บ จนอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมา
- อาจมีอาการข้อตึง ข้อขัดหลังตื่นนอน
- ขาผิดรูป เช่น เข่าโก่งหรือกางออก งอเหยียดได้ไม่สุด
การวินิจฉัย เพื่อพิจารณาความรุนแรงของโรคข้อเสื่อม
- การตรวจร่างกายหรือการตรวจกระดูก โดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ
- การถ่ายภาพเอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) กระดูก
- การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mass Densometry or BMD)
แนวทางในการรักษาข้อเสื่อม
- การช่วยคลายการเกร็งของกล้ามเนื้อและลดความเจ็บปวด โดยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการเลือกวิธีการบำบัด
- การใช้ยา เพื่อลดการอักเสบและความเจ็บปวดของข้อ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ
- การฉีดสารหล่อลื่นหรือน้ำไขข้อเทียม (Artificial Joint Fluid) เพื่อเพิ่มการหล่อลื่นให้ผิวข้อ และลดอาการปวด
- การผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อการวินิจฉัย และล้าง (Arthroscopic Debridement) ทำความสะอาดข้อ ตกแต่งผิวข้อให้เรียบ หรือเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็น หรือหมอนรองกระดูกที่ฉีกขาด
- การผ่าตัดจัดแนวกระดูกให้ตรง เพื่อแก้ไขความผิดรูปของกระดูกข้อเข่า เพื่อให้ข้อเข่ารับน้ำหนัก และกระจายแรงได้ดีขึ้น (Corrective Osteotomy)
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ซึ่งเป็นวิธีที่จะใช้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถรักษาแบบประคับประคองด้วยยาหรือการทำกายภาพบำบัดได้แล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องทนเจ็บอีกต่อไป วัสดุที่ใช้ในการเปลี่ยนข้อทำด้วยโลหะผสมและพลาสติกชนิดพิเศษ (Cobalt Alloy & Polyethicene) ที่ทำหน้าที่แทนผิวข้อกระดูกอ่อนได้ใกล้เคียงธรรมชาติ และไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ
หากคุณมีอาการปวดข้อ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ที่โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเลื่อมและข้อสะโพกเสื่อมด้วยการเปลี่ยนผิวข้อเทียม หรือ ผ่าตัดแก้ไขข้อเทียมที่สึกหรอหรือหมดสภาพให้กลับมาใช้งานข้อได้ดีดังเดิม