โรคสะเก็ดเงินคืออะไร มีสิทธิ์หายรึเปล่า?

สะเก็ดเงิน (Psoriasis)

เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่เร็วกว่าปกติ ทำให้ชั้นของหนังกำพร้าหนาตัวขึ้นจนเกิดเป็นผื่นแดง แห้ง คัน เป็นแผ่นนูนหนา ตกสะเก็ดเป็นสีเงิน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

แม้จะเป็นโรคที่มีอาการเด่นทางบริเวณผิวหนัง แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าเป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่มีการติดเชื้อ และไม่แพร่เชื้อ โดยเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทั้งข้อศอก ลำตัว หัวเข่า เล็บ และข้อ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเท่ากันทั้งสองข้าง นอกจากนี้โรคสะเก็ดเงินอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคแพ้ภูมิตัวเอง(SLE) โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงอาจสร้างปัญหาด้านจิตใจ จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้

โรคสะเก็ดเงิน เกิดจากอะไร ?

สาเหตุการเกิดโรคสะเก็ดเงินนั้นยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าปัจจัยสำคัญ อาจมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ จนเกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ ทำให้การเจริญเติบโต และพัฒนาการของผิวหนังไม่สมบูรณ์ จนทำลายเซลล์ผิวหนังแทนที่จะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสะเก็ดเงินอื่น ๆ ได้แก่

  1. พันธุกรรม จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงินมาก่อน
  2. สิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด อากาศ ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
  3. การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง หรือผิวหนังอักเสบหลังการผ่าตัด เช่น การแกะเกา ถูไถ เสียดสีบนผิวหนังที่รุนแรง ผิวไหม้แดด หรือแมลงกัดต่อย
  4. ภาวะความเจ็บป่วยภายในร่างกาย และการติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียสเตปโตคอคคัส (Streptococcus) ในระบบทางเดินหายใจ เชื้อไวรัสไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสเอชพีวี (HPV) ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) เป็นต้น
  5. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหัวใจ และความดันโลหิต ยารักษามาลาเรีย ยาสมุนไพรบางชนิด
  6. การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  7. สภาวะทางจิตใจ พบว่าผู้ป่วยที่เครียด หงุดหงิดง่าย จะกระตุ้นให้ผื่นกำเริบแดง และคันมากขึ้น
  8. การดื่มเหล้า และการสูบบุหรี่
  9. โรคอ้วนหรือผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน เพราะมีแนวโน้มเกิดรอยพับหรือย่นบริเวณผิวหนังมากกว่าคนทั่วไป
  10. การทำงานที่ใช้สารเคมี ความชื้น หรือต้องเจอฝุ่นควัน สิ่งสกปรก สารที่ก่อให้เกิดการแพ้เป็นประจำ

ข้อสังเกต คุณเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือเปล่า

เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีอาการ และการแสดงออกของโรคต่างกัน โดยทั่วไปอาการจะประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้

  1. ผื่นแดงบริเวณผิวหนัง ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือสีเงิน
  2. มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน หรือเจ็บบริเวณผื่น
  3. ผิวหนังแห้ง แตก และอาจมีเลือดออก
  4. เล็บหนา เล็บมีจุด หรือเล็บขรุขระ
  5. มีอาการบวมตามข้อ และข้อยึด

หากมีอาการผื่นที่ผิดปกติบริเวณผิวหนังตรงกับ 1 ใน 5 จุดสังเกต ก็มีแนวโน้มว่าคุณอาจจะมีอาการของโรคสะเก็ดเงินได้

ชนิดของโรคสะเก็ดเงิน อาการ และความรุนแรง

โรคสะเก็ดเงินสามารถจำแนกออกได้หลายชนิดตามลักษณะภายนอกที่ปรากฎ และการกระจายตัวของโรค โดยแต่ละชนิดมีอาการ และความรุนแรงแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

  1. ชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด และเป็นที่มาของชื่อโรคสะเก็ดเงิน มีลักษณะเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงิน พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่าซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสี โดยรอยโรคบริเวณหนังศีรษะพบมากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมด
  2. ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) มีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็กคล้ายหยดน้ำขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมาก่อน
  3. ชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) มีลักษณะเป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย
  4. ชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินชนิดรุนแรง ผิวหนังมีลักษณะแดง และมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจเกิดจากการขาดยาหรือมีปัจจัยกระตุ้น
  5. สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) มีลักษณะเป็นผื่นแดงเรื้อรัง และมักไม่ค่อยมีขุย เป็นโรคสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นบริเวณซอกพับของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ และใต้ราวนม เป็นต้น
  6. สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก โดยผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้
  7. เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักพบมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย ที่พบบ่อยได้แก่ เล็บเป็นหลุม, เล็บร่อน, เล็บหนาตัวขึ้น และเล็บผิดรูป
  8. ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจพบมีความผิดปกติการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียวหรือหลายข้อ ส่วนใหญ่การอักเสบของมือจะเกิดที่ข้อนิ้วมือ ซึ่งหากเป็นเรื้อรังอาจทำให้เกิดการผิดรูปได้

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการใช้ยาทั้งในอดีต และปัจจุบัน ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกาย ตรวจความผิดปกติของผิวหนัง ส่วนในรายที่มีอาการไม่ชัดเจน อาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) โดยการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังส่งพิสูจน์ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

แนวทางในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด การรักษาต้องวางแผนระยะยาว และรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และผลข้างเคียงจากยา โดยแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังนี้

  1. การรักษาด้วยยาทาภายนอก
    ถ้าเป็นน้อย ๆ การใช้ยาทาก็เพียงพอ แต่พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การแกะเกา และแสงแดด ในปัจจุบันมียาทาที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมากให้เลือกใช้ ได้แก่
    – ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ มีลักษณะเป็นครีมขาวใช้ง่าย และตอบสนองต่อการรักษาดี แต่มีข้อควรระวัง คือ หากทาเป็น ระยะเวลานานจะทำให้เกิดผิวหนังบาง และเกิดรอยแตกของผิวหนังได้ รวมถึงอาจเกิดการดื้อยา และอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้
    – สารแอนทราลิน (anthralin, dithranol) มีคุณสมบัติสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติได้ แต่อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนังรวมถึงผิวหนังบริเวณที่ทายามีสีคล้ำขึ้นได้
    – น้ำมันดิน สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี แต่น้ำมันดินมีสีน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นเวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า และอาจทำให้รูขุมขนอักเสบหรือระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายาได้
    – ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor ใช้ในการรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบริเวณหน้าหรือตามซอกพับเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ แต่ยามีราคาแพง
    – อนุพันธ์วิตามิน ดี ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังกลับสู่ปกติ หากทาบริเวณผิวหนังที่บาง อาจมีการระคายเคืองได้และยามีราคาแพง ในปัจจุบันมียาทาที่ผสมระหว่างอนุพันธ์วิตามินดี และยาทาคอติโคสเตียรอยด์เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียง
    – สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง เป็นยาทาภายนอกที่ปราศจากน้ำหอม อ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้ผิวระคายเคือง มีความเสี่ยงต่ำที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ดูดซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดี ช่วยลดอาการคัน แสบร้อน และช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น
  2. การใช้ยารับประทาน และยาฉีด
    สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง คือ ผู้ที่มีอาการของโรคสะเก็ดเงินมากกว่าร้อยละ 10 ของผิวหนังทั้งหมด ซึ่งยาทานนั้นมีผลข้างเคียง ไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง ควรอยู่ในการควบคุมโดยแพทย์ โดยอาจพิจารณาการรักษาแบบผสมผสานทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด เพื่อช่วยให้ผลในการรักษาที่ดีขึ้น
    – ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาอาซิเทรติน (Acitretin) ยาเรตินอยด์ (Retinoids) หรือยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
    – ยาฉีดกลุ่มชีวโมเลกุล (Biologic agents) เป็นยาที่ช่วยกดภูมิคุ้มกันร่างกาย ฉีดเข้าเส้นหรือเข้าใต้ชั้นไขมัน ซึ่งยาบางชนิดฉีดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง บางชนิดอาจฉีดห่างกันทุก 3 เดือน ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
    ช่วยยับยั้งวงจรการเกิดโรค และช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
  3. การรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียม
    โดยรังสีที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รังสีอัลตราไวโอเลต A และรังสีอัลตราไวโอเลต B ผู้ป่วยต้องมารับการรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 – 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย

วิธีดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

การหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพผิว การพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสะเก็ดเงินได้ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. ควรใช้มอยเจอร์ไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิวเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดอาการผิวแห้ง
  2. หมั่นทำความสะอาดผิวเป็นประจำ โดยใช้สบู่อ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองของผิวหนัง ซึ่งจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบมากขึ้น
  3. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการลดรอบเอว ในปัจจุบันมีงานวิจัยสนับสนุนว่า การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการดูแลควบคุมน้ำหนักจะช่วยให้ผื่นสะเก็ดเงิน และอาการปวดข้อนั้นดีขึ้นที่ 3 – 6 เดือน และมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยารับประทานหรือยาฉีดชีวโมเลกุลดีขึ้น
  4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะไปกระตุ้นเซลล์หนังกำพร้าให้เคลื่อนตัวเร็วกว่าปกติ และเป็นตัวเร่งการกระจายตัวของโรคสะเก็ดเงิน
  5. อย่าเกาหรือพยายามแกะสะเก็ดออกจากผื่น เพราะจะทำให้เลือดออก และผื่นกำเริบได้
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด

ถึงแม้โรคสะเก็ดเงินจะมีอาการเด่นด้านผิวหนัง แต่จากผลการศึกษา และงานวิจัยมากมายชี้ว่าโรคสะเก็ดเงิน จริง ๆ แล้วเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ก็สามารถทำให้โรคสงบได้ การพบแพทย์เฉพาะทาง จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยในการรักษาให้ตรงจุด และครอบคลุม เพราะการรักษาที่ต้นเหตุจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคร่วมหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors