ปัญหาเรื่องการลดน้ำหนัก เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องเผชิญ แม้การลดน้ำหนักด้วยวิธีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติ ดังนั้น การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในยุคนี้
ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักมีวิธีการอย่างไร
1. การผ่าตัดแบบสลีฟ (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy)
เป็นการตัดและเย็บกระเพาะให้เป็นท่อยาวคล้ายแขนเสื้อ โดยตัดกระเพาะออกไปราว 80% จนเหลือปริมาตรความจุ 150 cc โดยประมาณ หลังการผ่าตัด คนไข้จะทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็ว ร่างกายจึงดึงเอาไขมันส่วนเกินมาเผาผลาญเป็นพลังงานมากขึ้น ทำให้สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ประมาณร้อยละ 70 ผลการรักษา ผู้ป่วยจะลดน้ำหนักโดยเฉลี่ยได้ถึงร้อยละ 70-80 ของน้ำหนักส่วนเกินภายในช่วงระยะเวลา 12 – 18 เดือน หรือ 30 – 40% ของน้ำหนักตัวขึ้นอยู่กับน้ำหนักเริ่มต้นและน้ำหนักจะคงที่ต่อเนื่อง หากปฏิบัติตัวได้ดีตามคำแนะนำของแพทย์
2. การผ่าตัดบายพาส (Laparoscopic Roux-en Y Gastric bypass)
เป็นวิธีผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่า โดยทำการตัดกระเพาะให้มีขนาดเล็ก ประมาณ 1-2 ออนซ์ ร่วมกับการนำลำไส้เล็ก ความยาว 180-200 ซม. บายพาสมาต่อกับกระเพาะเพื่อลดการดูดซึม หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะกินอาหารได้น้อยลง ร่างกายลดการดูดซึมอาหารที่ทานเข้าไป ร่วมกับการเผาผลาญไขมันและสารอาหารที่สะสมไว้ได้มากขึ้น น้ำหนักส่วนเกินที่ลดลงจากวิธีผ่าตัดแบบนี้จะอยู่ที่ประมาณ 80% แต่ในระยะยาวอาจต้องได้รับการฉีดวิตามินบางชนิดเสริม เนื่องจากร่างกายดูดซึมวิตามินได้ไม่เพียงพอ
การผ่าตัดทั้ง 2 แบบนี้ นอกจากจะเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักได้ดีแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนต่ำ และยังเป็นการผ่าตัดที่สามารถทำได้ด้วยวิธีส่องกล้อง ผู้เข้ารับการรักษาจึงจะมีแค่แผลขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว อีกทั้งไม่มีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ให้ต้องกังวล
ใครเหมาะกับการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก
ตามเกณฑ์ของสมาคมผ่าตัดโรคอ้วนและเมตาโบลิกแห่งประเทศไทย (Thailand Society for Metabolic & Bariatric Surgery : TSMBS) ได้แก่
- ผู้ที่มี MBI ≥ 37.5 kg/m2
- ผู้ที่มี MBI ≥ 32.5 kg/m2 และมีโรคร่วม
- ผู้ที่มี MBI ≥ 30 kg/m2 และมีโรคร่วมทางเมตาโบลิก หรือเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 บางประเภท
ผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก อันตรายหรือไม่ ?
โดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักจะทำโดยวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 1% ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด เช่น มีการรั่ว หรือมีเลือดออกที่รอยตัดของกระเพาะ การตีบตัน อยู่ที่ไม่เกิน 1% ซึ่งสามารถป้องกันและแก้ไขได้
การปฏิบัติตัว ก่อนและหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
ก่อนผ่าตัด
- ตรวจร่างกายโดยละเอียด เช่น ตรวจเลือด, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, ตรวจสมรรถภาพปอด
- ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารให้มั่นใจว่าไม่มีความผิดปกติใด ๆ ของกระเพาะอาหารก่อนที่จะทำการผ่าตัด
- ทดสอบสภาพจิตใจกับนักจิตวิทยาเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีโรคทางจิตเวชสำคัญที่ห้ามการผ่าตัดและเตรียมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังผ่าตัด
- ประเมินภาวะโรคที่มีความเสี่ยงก่อนผ่าตัดเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- หากไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์และพยาบาล
- ถ้าอยู่ในระหว่างรับประทานยา อาหารเสริม สมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถรับประทานชนิดใดและต้องหยุดชนิดใดก่อนผ่าตัด
- กรุณาแจ้งแพทย์หากรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด หรือมีประวัติการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือด
- ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับยาฉีดป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันก่อนการผ่าตัดกระเพาะอาหาร 12 ชั่วโมง
หลังผ่าตัด
ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง จึงต้องรับประทานตามคำแนะนำของทีมแพทย์และพยาบาล เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอ ทั้งนี้การผ่าตัดจะทำด้วยวิธีส่องกล้องที่แผลเล็ก เจ็บน้อย ผู้ป่วยจึงลุกเดินได้เร็ว ซึ่งมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 3-4 วันหลังผ่าตัด หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วผู้ป่วยควรเคร่งครัดในการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของทีมแพทย์ และกลับมาติดตามผลการรักษาตามนัดหมาย