รู้ทันมะเร็งเต้านม… ทำไมตรวจดิจิทอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวน์จึงสำคัญ ?

รู้ทันมะเร็งเต้านม… ทำไมตรวจดิจิทอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวน์จึงสำคัญ ?

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) ภัยเงียบที่ไม่ควรละเลย เนื่องจากพบมากอันดับหนึ่งในมะเร็งผู้หญิง แต่เราสามารถเอาชนะได้ด้วยการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ การตรวจดิจิทอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวน์คือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้คุณรู้ทันมะเร็งเต้านมก่อนลุกลาม เพราะยิ่งตรวจพบเร็ว โอกาสหายขาดก็ยิ่งสูงขึ้น

การตรวจดิจิทอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) คืออะไร
การตรวจดิจิทัลแมมโมแกรมเป็นเทคโนโลยีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายกับการตรวจเอกซเรย์ แต่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป 30 – 60% โดยมีประสิทธิภาพในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกหรือตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เนื่องจากภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดสูง สามารถเห็นจุดหินปูนหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติขนาดเล็ก ทำให้สามารถระบุตำแหน่งและค้นหาความผิดปกติของเต้านมได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound Breast) คืออะไร
การตรวจอัลตราซาวนด์มะเร็งเต้านมเป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม ซึ่งสามารถบอกความแตกต่างขององค์ประกอบเนื้อเยื่อได้ว่าเป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ เป็นถุงน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อ
หากพบว่าเป็นก้อนเนื้อการอัลตราซาวนด์สามารถบอกได้ว่าก้อนเนื้อนั้นมีความเสี่ยงหรือความน่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่และช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติของเต้านมในผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมหนาแน่นได้

แต่อย่างไรก็ตามการอัลตราซาวนด์จะไม่สามารถตรวจพบหินปูนในเต้านมได้ เหมาะสำหรับผู้หญิงอายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากความหนาแน่นเนื้อนมปริมาณมาก การทำแมมโมแกรมอย่างเดียวอาจจะไม่พบความผิดปกติได้ การตรวจอัลตร้าซาวด์จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจพบความผิดปกติได้ดีกว่าในผู้หญิงที่อายุน้อย

ใครบ้างที่ควรตรวจ และต้องตรวจบ่อยแค่ไหน?
ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram) ควบคู่ไปกับการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ปีละ 1 ครั้ง และนอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้ควรตรวจคัดกรองด้วยเช่นกัน

1. คนในครอบครัว แม่ ลูก พี่น้อง ย่า ยาย มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
2. ผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกเต้านมและกำลังติดตามผลการรักษา
3. ประวัติการฉายรังสีบริเวณหน้าอก (Radiatio Chest)
4. เคยเจาะเต้านมและมีผลชิ้นเนื้อผิดปกติ เช่น ALH, DCIS, LCIS
5. มีอาการผิดปกติของเต้านม เช่น คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือใต้รักแร้ มีการเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น มีของเหลวหรือเลือดออกจากหัวนม หัวนมผิดตำแหน่ง เช่น ยุบลงไปหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น หรือผื่นรอบหัวนม เจ็บเต้านม
6. มีประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
7. ยังไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 35 ปี
8. มีรูปร่างอ้วน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน
9. มีพฤติกรรมชอบดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารไขมันสูง และไม่ชอบออกกำลังกาย

เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจ
● ควรตรวจในช่วงที่ไม่เจ็บหรือคัดเต้านม
● รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ
● หลีกเลี่ยงช่วงใกล้หรือมีประจำเดือน
● ไม่ควรทาโลชั่นหรือแป้งฝุ่นบริเวณหน้าอกและใต้รักแร้เพราะอาจมีผลต่อภาพเอกซเรย์
● หากเคยตรวจแมมโมแกรมหรือดิจิทัลแมมโมแกรม ควรนำภาพและผลตรวจเดิมมาเปรียบเทียบดูความแตกต่าง
● หากมีอาการผิดปกติของเต้านม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งที่ผู้หญิงควรทำในทุกๆ ปี โดยไม่ต้องรอจนอายุมาก สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ก็ตาม เพราะการตรวจคัดกรองช่วยให้รู้ตัวได้เร็ว การตรวจดิจิทัลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เต้านมควบคู่กันจะช่วยเพิ่มความชัดเจนถูกต้องในการค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก และนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors