Doctor

Dr. Chotirat Rukthamsangob

  • Specialties:Pediatric Dentistry
  • Languages:English, Thai
Education
  • Doctor of Dental Surgery, Chiang Mai University

Doctor's interview

Dr. Chotirat Rukthamsangob

“คนไข้ของหมอ เป็นเด็กถึง 99% ส่วนใหญ่ก็เป็นงานอุด ขูด ถอน รวมถึงให้ความรู้ด้านป้องกัน การดัดฟัน และงานทำฟันภายใต้การดมยา ซึ่งในการดูแลฟันให้กับเด็กๆ เราไม่แค่รักษาเสร็จแล้วจบ เพราะจริงๆ แล้วงานของหมอจะเริ่มต้นตั้งแต่เด็กมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรก มีการแนะนำการดูแลสุขลักษณะของฟัน สอนการแปรงฟันให้กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เพื่อจะได้ดูแลฟันของลูกให้เหมาะสมตามพัฒนาการของฟันในแต่ละวัยไปจนถึงอายุ 12 ขวบเลย”

ทพญ.โชติรัตน์ รักธรรมสงบ สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2543 จากนั้นคุณหมอได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรแพทย์ประจำบ้าน สาขาทันตกรรมเด็ก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับวุฒิบัตรทันตกรรมเด็ก จากแพทยสภา เมื่อปี 2551 คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า… 

“ตอนหมอจบทันตแพทย์ใหม่ๆ ก็รักษาฟันให้คนไข้ผู้ใหญ่ทั่วไป แต่เวลาเจอคนไข้เด็กหมอพบว่ายังมีปัญหาหรือการรักษาบางอย่างที่เรายังเข้าไม่ถึง ทำให้อยากเรียนรู้เพิ่มเติมในเชิงลึกมากขึ้น พอได้มาเรียนจริงๆ แม้ทันตกรรมเด็กจะมีความซับซ้อนแต่หมอก็มีความสุข ในส่วนของการดัดฟันนั้น เกิดจากที่หมอมักได้รับคำถามจากผู้ปกครองอยู่บ่อยๆ แม้ว่าตอนเรียนทันตแพทย์จะมีการสอนเกี่ยวกับการดัดฟันมาบ้างแต่ก็เป็นในระดับเบื้องต้น ที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในคำถามเชิงลึกได้ และด้วยหมอมีความสนใจในด้านนี้อยู่แล้ว จึงตัดสินใจไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดัดฟันของสยาม ออร์โธดอนติกส์ เซ็นเตอร์ ซึ่งได้รับการรับรองจากสมาคมทันตกรรมจัดฟันและการวิจัยแห่งประเทศไทย โดยความรู้ที่ได้ หมอสามารถนำมาเสริมสมทบกับทักษะด้านทันตกรรมเด็กที่มีอยู่ และตอบโจทย์การดัดฟันในเคสที่ยากและซับซ้อนได้ดีขึ้นมาก”

เข้าใจธรรมชาติของเด็กๆ หนึ่งในหัวใจสำคัญของการรักษา

เมื่อคนไข้เด็กมาหาหมอฟัน ส่วนใหญ่ก็มักจะมีความกลัวหรือกังวลใจ คุณหมอโชติรัตน์ จะใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อให้เด็กผ่อนคลาย และให้ความร่วมมือในการรักษา…

“อะไรที่เด็กไม่เคยเห็น ไม่เคยทำ เขาก็ย่อมกลัวเป็นธรรมดา ปกติแล้วหมอจะใช้วิธีอธิบายและโชว์จุดที่ต้องรักษาให้เด็กๆ ดู ก่อน มีการใช้การส่องกระจก การใช้เครื่องมือช่วย โดยแสดงให้เห็น ยกตัวอย่างโดยการเปรียบเทียบ และใช้ทฤษฎีแบบ positive way enforcing เช่น การชมว่าเก่ง หรือการให้ของรางวัล แต่ในบางเคสก็อาจต้องใช้ทฤษฎีแบบ negative way enforcing เช่น ถ้าหนูขยับหนูอาจจะตกเก้าอี้นะคะ หนูต้องระวังอย่าขยับไปมาเยอะนะ นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีที่เรียกว่า voice control เหมือนเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้เสียงอื๊อ! ปรามลูก แต่การที่เราจะใช้เทคนิคอะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการสังเกตเด็กแต่ละคน แต่ละวัย ว่าควรจะใช้หลักการไหนให้เหมาะสมตามจังหวะและสถานการณ์นั้นๆ ที่สำคัญอีกอย่างคือในทุกการรักษา หมอจะไม่ยัดเยียดหรือตัดสินว่าต้องทำทุกอย่างตามที่หมอแนะนำ แต่จะหาจุดตรงกลาง ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและคนไข้ที่ลงตัว และเป็นผลดีกับเด็กๆ ที่สุด”

ดมยาสลบด้วยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการรักษาที่ปลอดภัย

ในกรณีเด็กเล็กมากๆ ที่อายุต่ำกว่าสามถึงสี่ขวบที่ยังไม่เข้าใจ การใช้จิตวิทยาต่างๆ ก็อาจจะไม่ช่วยให้เด็กสงบลงจนพร้อมรับการรักษาได้ และถ้าไม่ได้รับการรักษาให้แล้วเสร็จคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องพาเด็กมาพบคุณหมอหลายครั้ง หรือหากเป็นกลุ่มเด็กพิเศษ เด็กสมาธิสั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากเครื่องมือระหว่างที่แพทย์ทำฟันให้ และแม้แต่เด็กโตบางรายก็อาจมีความเครียดและความกังวลสูงมากหรือกลัวหมอฟันสุดๆ กรณีแบบนี้ คุณหมอโชติรัตน์ จะพิจารณาใช้วิธีดมยาสลบก่อนการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ทันตแพทย์สามารถทำฟันได้โดยไม่ต้องกังวลถึงการบาดเจ็บหรือรีบทำจนเกินไปจากภาวะไม่ยอมรับการรักษา ทั้งนี้จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดมยาสลบมาเป็นผู้ดูแลตลอดการรักษา…

“การดมยาสลบจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนเสมอ อย่างเคสหนึ่งคุณแม่ต้องปิดบังสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว เพราะสมาชิกในบ้านไม่อยากให้มีการดมยาสลบ มีแค่คุณแม่เพียงคนเดียวที่มองเห็นถึงความเสี่ยงหากไม่ใช้วิธีดมยา เพราะต้องรักษาหลายอย่าง คือมีทั้งถอนฟันและครอบฟันด้วย พอรักษาเสร็จเรียบร้อยจึงได้บอกกับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเมื่อทุกคนเห็นว่าเด็กกลับมากินได้ดี เคี้ยวอาหารได้ดี ก็แฮปปี้กันทั้งบ้าน เพราะเดิมทีเด็กจะงอแงไม่ยอมกินข้าว นอนก็หลับๆ ตื่นๆ เพราะมีปัญหาเรื่องฟันผุเยอะ กลายเป็นว่าเมื่อรักษาฟันแล้วเด็กสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและเจริญเติบโตตามวัย ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากๆ กับการรักษา”

Related Health Blogs

Related Doctors