ข้อมูลแพทย์

นพ.สิปปนนท์ สามไชย

  • สาขา:อายุรกรรมระบบประสาท
  • อนุสาขา:โรคลมชัก
  • ภาษา:ไทย
สาขา
  • แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อายุรกรรมระบบประสาท รพ.พระมงกุฎ
  • อนุสาขาโรคลมชัก รพ.พระมงกุฎ
  • อนุสาขาเวชศาสตร์นอนหลับ รพ.พระมงกุฎ

อนุสาขาโรคลมชัก อนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ

โรคลมชักและเวชศาสตร์การนอนหลับ

บทสัมภาษณ์แพทย์

นพ.สิปปนนท์ สามไชย

หลังจาก นพ.สิปปนนท์ สามไชย สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2543 และได้เป็นแพทย์ใช้ทุนเรียบร้อยแล้ว จึงได้เข้าศึกษาต่อวุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรกรรมระบบประสาท ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ และมาเป็นอายุรแพทย์ที่โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา ก่อนจะไปศึกษาต่อในอนุสาขาอายุรกรรมโรคลมชัก และเวชศาสตร์การนอนหลับ ปัจจุบันคุณหมอเป็นอายุรแพทย์ระบบประสาทที่ เชี่ยวชาญด้านโรคลมชักและเวชศาสตร์การนอนหลับ ซึ่งคุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการศึกษาและการทำงานว่า...

“ที่เลือกศึกษาต่อด้านเวชศาสตร์การนอนหลับและโรคลมชักนั้น เพราะหมอเห็นว่าคนไข้ที่มีปัญหาด้านระบบประสาทกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะ และแพทย์ที่ดูแลคนไข้ด้านนี้ยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยกลับมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หมอจึงสนใจและอยากที่จะช่วยเหลือคนไข้กลุ่มนี้ ซึ่งนอกจากโรคลมชักและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับแล้ว หมอก็ยังได้ดูแลคนไข้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน หลงลืม ปวดหัว ชัก และหลอดเลือดสมองตีบด้วย เพราะเป็นโรคในกลุ่มระบบประสาทและสมองเหมือนกัน”

โรคลมชัก ต้องใช้ความเข้าใจและระยะเวลาในการรักษา

โรคลมชักเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นมาตั้งแต่เด็กจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดสมองแตก เนื้องอกในสมอง หรือได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับสมอง รวมถึงการได้รับผลข้างเคียงจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การดื่มเหล้า การใช้ยาเสพติดและการใช้สารกระตุ้นประสาทต่างๆ 

สำหรับคนไข้ที่คุณหมอสิปปนนท์ ดูแลรักษา ส่วนใหญ่จะมาด้วยกรณีฉุกเฉิน คือมีอาการกำเริบขึ้น รวมถึงคนไข้ประจำที่ต้องเข้ารับการตรวจติดตามอาการ เพราะคนไข้โรคลมชักมากกว่าครึ่งนั้นไม่สามารถหายขาดจากโรคได้ ถือเป็นภาวะเรื้อรังที่ต้องมีการให้ยารักษาเพื่อประคับประคองอาการกันอย่างต่อเนื่อง…

“จริงๆ แล้ว เคสคนไข้โรคลมชักส่วนใหญ่ ตัวคนไข้มักคิดว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย หลายคนจึงท้อแท้และปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ แต่สำหรับคนไข้ของหมอ หมอจะอธิบายให้คนไข้เข้าใจและรู้ว่า ทุกการรักษานั้นมีความหวังเสมอ เพื่อให้คนไข้มีกำลังใจที่จะต่อสู้ และพร้อมในการรับการรักษาตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง การรักษาโรคนี้ต้องมีการติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ เพื่อการปรับยาให้ตรงกับอาการ ซึ่งแม้อาจจะไม่หายขาด แต่ก็จะช่วยคนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้” 

ตรวจ วินิจฉัย และรักษาปัญหาด้านการนอนหลับ

โรคที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เป็นโรคอ้วน หรือมีโรคประจำตัว เช่น ความดันสูง เบาหวาน หากตอนกลางวันรู้สึกไม่สดชื่น เวียนหัว ปวดหัว หรือโรคที่เป็นอยู่นั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องมาพบแพทย์ เพื่อพูดคุยว่ามีข้อบ่งชี้อะไรที่ต้องตรวจเพิ่มเติม หรือต้องรักษาอย่างไรเพื่อให้ภาวะเหล่านี้ดีขึ้น และควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวอื่นๆ เพราะหากไม่ทำการรักษาจะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับสูงมาก คุณหมอสิปปนนท์ อธิบายให้ฟังถึงการสังเกตอาการว่า…

“ส่วนใหญ่แล้วโรคเกี่ยวกับการนอนหลับจะถูกสังเกตเห็นโดยคนที่นอนด้วย เช่น มีอาการละเมอ มีการเคลื่อนไหวรุนแรง นอนกระสับกระส่าย พลิกตัวไปมา นอนกรนดัง หรือหยุดหายใจระหว่างการนอน ขณะที่ตัวคนไข้เองต้องหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติของร่างกายของตัวเอง เช่น มักปวดหัวตอนเช้าๆ รู้สึกไม่ค่อยสดชื่นในตอนกลางวัน ตื่นสะดุ้งบ่อยๆ ตอนกลางคืน ถ้ามีอาการแบบนี้ก็ควรมาพบหมอเพื่อปรึกษาและตรวจเช็กโดยละเอียด”

เวชศาสตร์การนอนหลับเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างกว้าง โรคที่คุณหมอสิปปนนท์ พบและรักษาบ่อยๆ ก็มีเช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และภาวะนอนกรน การรักษาในเบื้องต้นจะมีการพูดคุย ตรวจและทดสอบการนอนหลับ จากนั้นก็จะให้คำแนะนำ หรือมีการให้ใช้เครื่องมือช่วยหายใจระหว่างการนอนหลับ รวมถึงการตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น ส่วนคนไข้ที่มีอาการชักระหว่างนอนหลับ คนไข้ที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติระหว่างการนอน หรือคนไข้ละเมอ ก็จะรักษาด้วยการให้คำแนะนำและการใช้ยาเป็นหลัก

คนไข้ที่มีความผิดปกติในช่วงระหว่างการนอนที่ต้องดูแลรักษา ก็เช่น มีการละเมอ นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ นอนกัดฟัน มีการเคลื่อนไหวผิดปกติระหว่างหลับ หรือแม้แต่มีภาวะนอนไม่หลับก็อยู่ในกลุ่มนี้ที่ควรเข้ารับการรักษาด้วย” 

หัวใจสำคัญของการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท

โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคที่ต้องดูแลรักษากันยาวนาน แพทย์จึงจะต้องมีใจรัก คุณหมอสิปปนนท์ จึงเน้นย้ำว่า แพทย์ต้องให้ความสำคัญกับตัวคนไข้ มีการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของเทคโนโลยีและการรักษาก็ต้องติดตามงานวิจัย ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงนำนวัตกรรมต่างๆ ทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจ รักษา…

“โรคเกี่ยวกับระบบประสาทต้องอาศัยเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ ซึ่งที่โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา เรามีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบถ้วน เริ่มตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย เรามีการใช้เครื่องเอกซเรย์สมอง ได้แก่ เครื่อง CT และ MRI Scan ส่วนโรคลมชัก ก็มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ในด้านเวชศาสตร์การนอนหลับจะมีการใช้เครื่องตรวจการนอนหลับเพื่อดูคลื่นไฟฟ้าสมอง ดูอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ สำหรับการดูแลคนไข้เราก็มีเครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับด้วย” 

ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักรู้จักและตระหนักถึงภัยอันตรายเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดสมองตีบ แตก อาการอัมพฤกษ์อัมพาต แต่โรคที่เกี่ยวกับภาวะผิดปกติขณะนอนหลับ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างมากเช่นกัน ดังนั้นหากพบว่าตัวเราหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังที่กล่าวมา คุณหมอสิปปนนท์ แนะนำว่า ควรหาโอกาสพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อการตรวจ วินิจฉัย และรักษาให้ตรงจุด

อ่านบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง ผลกระทบที่มีต่อกันระหว่างปัญหาการนอนหลับ และโรคหลอดเลือดสมอง
(Sleep problems and Stroke : The bidirectional effects.)
ในวารสารสมาคมหลอดเลือดสมองไทย (Journal of Thai Stroke Society)
ได้ที่ 👉https://bit.ly/3t3xXaA

ข้อมูลสุขภาพ

แพทย์ผู้เกี่ยวข้อง