ข้อมูลแพทย์

นพ.ยุทธพล ทิตอร่าม

  • สาขา:กุมารแพทย์โรคหัวใจ
  • อนุสาขา:กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ
  • ภาษา:ไทย อังกฤษ
สาขา
  • 2544–2550 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 2553–2556 สาขากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 2556–2558 อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • กุมารเวชกรรมทั่วไป
  • กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ

บทสัมภาษณ์แพทย์

นพ.ยุทธพล ทิตอร่าม

นพ.ยุทธพล ทิตอร่าม สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นคุณหมอได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ และอนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ ที่สถาบันเดิม คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…

“ในช่วงที่เป็นแพทย์ใช้ทุน หมอมีโอกาสได้ดูแลรักษาคนไข้ในหลายๆ วอร์ด เมื่อมาดูวอร์ดเด็กก็พบว่าเด็กมีความน่ารัก และตัวหมอเองก็มีความสุขและความเพลิดเพลินในการตรวจคนไข้เด็ก ได้พูดคุยกับเด็กๆ อีกอย่างเวลาที่เด็กไม่สบายเขาจะน่าสงสาร แต่พอหายดีแล้วเด็กจะดูร่าเริงมาก อันนี้เป็นความน่ารักและเสน่ห์ของแผนกนี้ หมอเลยตัดสินใจเลือกมาเรียนหมอเด็ก

พอได้มาเรียนจริงๆ หมอเห็นว่าคนไข้เด็กที่เป็นโรคหัวใจนั้นน่าเป็นห่วงมาก ตอนที่เรียนก็ได้เจอเคสเรื่อยๆ เพราะตัวเลขอุบัติการณ์ของโรคหัวใจในเด็ก ถ้าคลอดมา 1,000 คนจะเจอได้ประมาณ 8 คน แม้ว่าคนไข้ส่วนใหญ่จะมีโอกาสดีขึ้นหรือหายได้ แต่ก่อนการรักษาในบางเคสก็จะมีอาการหอบมาก เหนื่อยเยอะ หน้าเขียว ตัวเขียว ซึ่งเป็นอาการที่ค่อนข้างหนัก แต่พอเค้าหายดีไม่ว่าจะได้รับการผ่าตัดหรือให้ยาก็ตาม เค้าจะกลับมาดีแบบตรงกันข้ามเลย ซึ่งตัวหมอคิดว่าถ้าเราสามารถรักษาเด็กๆ ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเหมือนเด็กที่ไม่เคยป่วยได้ หรืออย่างน้อยๆ ก็ให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติมากที่สุด ตรงจุดนี้ก็เหมือนเป็นความสุขและความภูมิใจเล็กๆ ของหมอ”

การรักษาโรคหัวใจในเด็กของคุณหมอ

คนไข้โรคหัวใจเด็กแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มแรก เป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด และกลุ่มที่สองเป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นจึงมีกลุ่มที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และกลุ่มที่สามารถรักษาให้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้ แต่ต้องคอยติดตามดูอาการกันอยู่เรื่อยๆ ซี่งคุณหมอบอกว่า…

“จริงๆ แล้ว กุมารแพทย์ทุกคนก็สามารถดูแลคนไข้เด็กที่เจ็บป่วยโรคทั่วไปได้ทั้งหมด แต่ที่ รพ.พญาไท ศรีราชา เราจะมีคลินิกโรคหัวใจเด็กแยกออกมาจากกลุ่มโรคทั่วไป ซี่งหมอจะเน้นรักษาคนไข้ในส่วนนี้ และในฐานะหมอเด็ก หมอได้มีโอกาสดูแลสุขภาพเด็กที่มารับวัคซีนและผู้ป่วยเด็กโรคทั่วไปเช่นกัน”

สัญญาณเตือนโรคหัวใจในเด็ก

โดยทั่วไปเมื่อเด็กคลอดแล้ว กุมารแพทย์ก็จะตรวจสุขภาพพื้นฐานต่างๆ หากพบอาการที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่าจะมีปัญหาด้านหัวใจ เช่น ฟังหัวใจแล้วมีเสียงฟู่ๆ ทารกมีอาการหอบเหนื่อย มีอาการตัวเขียว ระดับออกซิเจนในเลือดไม่ดี ก็จะเป็นหน้าที่ที่คุณหมอยุทธพล จะเข้ามาดูแลเพื่อตรวจหัวใจโดยเฉพาะ

บางครั้ง อาการเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด แต่อาจสังเกตพบเมื่อเด็กมาฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ เช่น 1, 2 หรือ 4 เดือน หากมีอาการน่าสงสัย คือเมื่อคุณหมอฟังหัวใจแล้วมีเสียงผิดปกติ เด็กดูเหนื่อยง่าย น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น เวลาร้องไห้มีอาการหน้าเขียว ปากเขียว กุมารแพทย์ก็จะส่งตัวเด็กมาให้คุณหมอยุทธพล ช่วยตรวจหาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดอีกชั้นหนึ่งเช่นกัน…

“ส่วนกลุ่มโรคหัวใจที่เจอภายหลัง ที่ไม่ได้เป็นตั้งแต่กำเนิดยกตัวอย่าง เช่น  ‘โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)’ เป็นโรคที่มีการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดแดง เด็กมักจะมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ ตาแดง ปากแดง มีผื่น มือลอก ผิวลอก ส่วนอีกโรคคือ ‘โรคหัวใจรูมาติก (rheumatic heart disease)’ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และมักเจอในครอบครัวที่มีประวัติเคยเป็นโรคนี้ เด็กจะมีอาการไข้ ปวดบวมตามข้อ มีปุ่มใต้ผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นแดง หอบเหนื่อยง่าย ซึ่งหากพบอาการต่างๆ เหล่านี้ ควรจะพาเด็กมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด”

เคสประทับใจในการดูแลรักษาโรคหัวใจเด็ก

การรักษาโรคหัวใจในเด็ก นอกจากการรักษาให้หายแล้ว คุณหมอยุทธพล จะประเมินถึงความพร้อมในกรณีที่เด็กอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤต ด้วย…

“เคสที่ 1 มีคนไข้รายหนึ่ง เมื่อแรกเกิดยังไม่มีอาการใดๆ แต่พอผ่านไปสักสิบวัน เด็กร้องไห้มาก ตัวเขียว ออกซิเจนต่ำเหลือแค่ 60 เมื่อคนไข้มาโรงพยาบาลด้วยอาการตัวเขียว คุณหมอที่ห้องฉุกเฉินก็ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน ให้ยา ช่วยให้เด็กหายเขียวในเบื้องต้น แต่ปรากฏว่าเคสนี้มีความซับซ้อน เพราะหลังจากให้ยาแล้วเด็กตอบสนองไม่ดีนัก มีความดันต่ำ และตรวจพบการติดเชื้อด้วย เมื่อหมอได้เข้าไปดูแล จึงได้ให้ยาที่ไปขยายเส้นเลือด “PDA” ที่เพิ่มเลือดในปอด และยาช่วยกระตุ้นหัวใจ เพิ่มความดัน ให้น้ำเกลือ เมื่อความดันดีขึ้น อาการเขียวของเด็กก็น้อยลง ระดับออกซิเจนก็ดีขึ้น หมอก็ทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำ Echocardiogram ปรากฏว่าเด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว

ด้วยความที่เป็นเด็กอายุแค่ 10 วัน และตัวเล็กมาก คือหนักแค่ 2.7 กิโล ระดับออกซิเจนก็ไม่ดีนัก หมอจึงประสานกับทีมแพทย์ที่รพ.จุฬา เพื่อรับเคสไปทำการผ่าตัดต่อเส้นเลือดเทียม เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงปอดได้ดีขึ้น ปัจจุบันเด็กก็ปลอดภัยดี มีระดับออกซิเจนที่ถือว่าดีแล้ว เคสนี้หมอก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยในการตรวจวินิจฉัยและดูแลในขั้นแรก รวมถึงส่งต่อถึงอาจารย์แพทย์ผ่าตัดที่เชี่ยวชาญ ทำให้ช่วยชีวิตเด็กคนหนึ่งเอาไว้ได้”

“ส่วนเคสที่ 2 อีกรายที่ประทับใจ คือผู้ป่วยเด็กโต มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หน้าซีดเกือบเป็นลมร่วมกับมีอาการเหนื่อย หลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพบว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Acute Myopericarditis) และการทำงานของหัวใจลดลง ซึ่งผู้ปกครองมีความกังวลใจมากเนื่องจากผู้ป่วยเดิมแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว หลังจากได้อธิบายให้ผู้ป่วยและผู้ปกครองฟัง ก็ได้ดำเนินการหายารักษาที่ชื่อ IVIG ซึ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาใน ICU เป็นเวลา 1 คืน อาการก็ค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ขณะนี้ผู้ป่วยแข็งแรงดี หายจากการอักเสบของหัวใจและใช้ชีวิตได้ตามปกติ”

นอกจากความเชี่ยวชาญในการเป็นกุมารแพทย์โรคหัวใจเด็กแล้ว ปัจจุบันคุณหมอยุทธพล ยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์แพทย์ สอนนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยบูรพา รวมทั้งเป็นวิทยากรรับเชิญร่วมบรรยายและเสวนาเกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บในเด็กอยู่บ่อยครั้ง

ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รักษาด้วยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก

ที่คลินิกโรคหัวใจเด็ก คุณหมอยุทธพล จะมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัย เช่น การใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Echocardiogram, การเดินหรือวิ่งบนสายพาน และการติดเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสำหรับติดที่หน้าอกของเด็กตลอด 24 ชั่วโมง ที่สามารถให้เอากลับไปบ้านได้หนึ่งวัน (HOLTER) แล้วจึงนำกลับมาให้แพทย์อ่านผล เพื่อวินิจฉัยต่อไป…

“นอกจากเทคโนโลยีแล้ว การตรวจและความเอาใจใส่ของหมอก็สำคัญ การเป็นกุมารแพทย์ แน่นอนว่าจะต้องมีใจรักในอาชีพ มีความเมตตา ใจเย็น และต้องมีความละเอียดสูง เพราะต้องค่อยๆ ตรวจ ค่อยๆ ดูอาการ สืบหาสาเหตุที่เด็กไม่สบาย เพราะเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่เล็กมากๆ นั้นยังพูดไม่ได้ บอกเราไม่ได้ เราต้องใช้การสังเกต การตรวจร่างกาย และการซักถามจากผู้ดูแลเด็ก ในการตรวจก็ต้องมีการใช้จิตวิทยาเยอะ มีเทคนิควิธีหลอกล่อต่างๆ เพราะเด็กที่ไม่สบายมาโรงพยาบาลก็จะร้องไห้งอแงเป็นธรรมดา แต่ส่วนใหญ่แล้ว หมอเด็กก็จะมีความรักและความเข้าใจเด็กเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วง” 

ปกติแล้ว กุมารแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไปจะดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี ทว่ากลุ่มโรคหัวใจจะแตกต่างออกไป คือกุมารแพทย์โรคหัวใจจะดูแลจนกระทั่งเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคหัวใจมาตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากโรคหัวใจเด็กกับโรคหัวใจในผู้ใหญ่จะไม่เหมือนกัน โรคหัวใจในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนในเด็กมักจะเกี่ยวกับโครงสร้างหัวใจเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเป็นตั้งแต่เด็ก คุณหมอที่ทำการรักษาก็จะดูแลเคสไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลสุขภาพ

แพทย์ผู้เกี่ยวข้อง