พญ.นันทวรรณ คูสุวรรณ์
คุณหมอเลือกที่จะผสมผสานทั้งศาสตร์ทางการแพทย์และศิลปะการสื่อสาร เพื่อเด็กๆ จะได้เข้าใจ รู้สึกคุ้นเคย หายกลัว และรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมกับการรักษา
หลังจาก พญ.นันทวรรณ คูสุวรรณ์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นแพทย์ใช้ทุนเรียบร้อยแล้ว จึงได้เข้าศึกษาต่อวุฒิบัตรกุมารแพทย์ ณ สถาบันเดิม เมื่อเป็นกุมารแพทย์ได้ 2 ปี คณหมอได้ศึกษาต่อยอดด้านกุมารเวชโรคไตเด็ก ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ปัจจุบันคุณหมอจึงทำหน้าที่เป็นทั้งกุมารแพทย์ที่รักษาโรคทั่วไปในเด็ก และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคไตในเด็ก ทั้งนี้คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…
“ตอนแรกที่สนใจศึกษาต่อด้านกุมารแพทย์ เพราะหมอมีความสุขที่ได้ดูแลรักษาเด็กๆ มองว่าคนไข้เด็กมีความน่ารัก เปรียบเสมือนผ้าขาว เขาเจ็บป่วยอย่างไรก็จะแสดงออกอย่างนั้น พอรักษาหายแล้ว เด็กก็จะแสดงออกอย่างมีความสุข ซึ่งเราก็จะรู้สึกปลาบปลื้มและภูมิใจในจุดนี้
แล้วพอได้มาเป็นกุมารแพทย์สักพัก ตอนนั้นกำลังคิดว่าอยากศึกษาต่อด้วยความสนใจ ก็เลยตัดสินใจมาเรียนทางด้านโรคไตในเด็ก เพราะโรคไตในเด็กบางโรคหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเด็กจะสามารถหายจากโรคได้”
โรคไตในเด็ก พบได้ทุกช่วงอายุ
กลุ่มคนไข้โรคไตในเด็กที่คุณหมอนันทวรรณ ดูแลรักษา มีทั้งที่เป็นทารกแรกเกิด ซึ่งสามารถตรวจอัลตร้าซาวด์โดยสูติแพทย์พบตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ว่ามีกรวยไต ไตผิดปกติ เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว คุณหมอก็จะทำวินิจฉัยและและรักษาต่อไป
ในเด็กเล็กและเด็กโตอาการอื่นๆ ของโรคไต เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคไตอักเสบอาการตัวบวม ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด ร่วมกับมีอาการปวดหัว มีความดันโลหิตสูง กรณีนี้คุณหมอก็จะซักประวัติ และตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม มีการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจในแล็บ ทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจค่าไต ตรวจค่าเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งการรักษาก็จะมีตั้งแต่การควบคุมสารน้ำ การจำกัดอาหาร และการให้ยา ในบางรายอาจจำเป็นต้องทำการฟอกเลือด ฟอกไต สำหรับผู้ป่วยเด็กโรคไตเรื้อรังก็มีการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไตในลักษณะเดียวกับที่รักษาในคนไข้ผู้ใหญ่…
“หลายปีที่ผ่านมา หมอพบว่ามีเด็กเป็นโรคเกี่ยวกับไตมากขึ้นเยอะ และที่พบเยอะหน่อยก็จะเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ภาวะกรวยไตขยาย ท่อไตตีบ ปัสสาวะไหลย้อนกลับ รวมถึงปัสสาวะไม่ออก และด้วยหมอก็เป็นกุมารแพทย์ที่รักษาโรคเด็กทั่วไปด้วย ปัจจุบันหมอจึงยังดูแลรักษาคนไข้เด็กที่มีภาวะฉุกเฉินจากโรคอื่นๆ เหมือนกัน ซึ่งปกติก็จะดูแลได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงช่วงอายุสัก 15 ปี”
ผสานองค์ความรู้อันก้าวหน้า นำมาดูแลคนไข้อย่างใส่ใจ
ระหว่างการศึกษาด้านโรคไตเด็กคุณหมอนันทวรรณ ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดูแลรักษาคนไข้โรคไตที่ประเทศออสเตรเลีย โดยเน้นไปที่กลุ่มโรคไตเรื้อรัง การปลูกถ่ายไต การฟอกเลือดในเด็ก และการดูแลคนไข้ที่เปลี่ยนถ่ายไตแล้ว เป็นต้น ซึ่งนับเป็นองค์ความรู้ในการทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จึงทำให้คุณหมอมีความพร้อมในการรักษาคนไข้ หากพบกรณีที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
การดูแลคนไข้เด็กโรคไต คุณหมอนันทวรรณ บอกว่า ต้องมีความใจใส่มากเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กจะต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ซึ่งเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรักษานานและต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากเป็นโรคที่เรื้อรัง ก็ยิ่งต้องดูแลรักษานานขึ้นไปอีก…
“คนไข้เด็กที่หมอดูแล ส่วนใหญ่เราก็จะเจอกันบ่อย เพราะต้องรักษากันยาวนาน ในการรักษาหมอจะดูบริบทอย่างรอบด้าน ทั้งการให้ยา การควบคุมอาหาร ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจและยอมรับ รวมถึงกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะการที่ลูกจะต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ พ่อแม่ก็อยากรู้เหตุผล อยากทราบแผนการรักษา ส่วนการติดตามอาการก็ต้องดูกันแลอย่างใกล้ชิด ต้องสร้างความคุ้นเคยและสร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ด้วย บางทีก็หมอก็จะมีของเล่นมาให้บ้าง มีอะไรสนุกๆ มาให้ทำเพื่อให้เด็กคลายความกังวล โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ
ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็ต้องทำความเข้าใจ อธิบายเรื่องโรค มีหนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับโรคให้เขาอ่านหรือดู เช่น คลิปอธิบายการทำงานของระบบกรวยไต ระบบทางเดินปัสสาวะ รู้เรื่องโรคและการรักษาแบบที่เข้าใจง่ายและไม่หนักจนเกินไป เลือกที่มีการผสมผสานทั้งศาสตร์ทางการแพทย์และศิลปะการสื่อสาร เพื่อเด็กๆ จะได้เข้าใจ รู้สึกคุ้นเคย หายกลัว และรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมกับการรักษา”
เด็กสุขภาพดี เริ่มที่พ่อแม่ และคนในครอบครัว
เด็กไม่สามารถมาพบแพทย์ด้วยตนเองได้ ต้องมากับผู้ปกครอง การรักษาโรคในเด็กจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจ การให้คำแนะนำในการดูแลเด็กเมื่อกลับไปที่บ้านแล้วก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก…
“เมื่อเด็กป่วยมา เราต้องดูแลให้เขามีอาการดีขึ้นก่อน จากนั้นหมอจะพูดคุยและให้คำแนะนำกับผู้ปกครอง เพื่อเวลาที่เขากลับไปอยู่บ้านจะได้ดูแลต่อได้ หมอจะเน้นการดูแลแบบองค์รวม คือดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจเพื่อไม่ให้เด็กกลับมาเป็นโรคซ้ำ ที่สำคัญอีกอย่างคือ หมอจะต้องรู้ถึงความพร้อมของผู้ปกครองด้วย เช่น เขาสามารถพาเด็กมารับการรักษาตามนัดหมายได้หรือไม่ สิ่งที่เขาอยากให้หมอช่วยคืออะไร
เพราะในบางเคสเขาก็ไม่พร้อมจะรักษาต่อที่นี่ อาจจะด้วยค่าใช้จ่าย หรือไม่สะดวกในการเดินทาง อยากให้หมอช่วยส่งตัวไปรักษาต่อที่อื่น หมอก็จะให้คำแนะนำรวมถึงประสานงานว่าที่ไหนมีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ที่พร้อมรับรักษาต่อ คือเราต้องมีความเอาใจใส่ต่อทั้งตัวเด็กและครอบครัวของเด็กด้วย”
ในเด็กปกติ แข็งแรง ผู้ปกครองสามารถดูแลและป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ โดยการดูแลการทำความสะอาดหลังเด็กขับถ่ายอย่างถูกวิธีและไม่ปล่อยให้เด็กท้องผูก ดื่มน้ำให้เพียงพอ ในกรณีที่เด็กป่วยต้องทานยาปฎิชีวนะ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรทานยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำและมาพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ…