นพ.มังกร ตียะภูดิศ
“ในสาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อ เรามีเทคโนโลยี และวิวัฒนาการทางด้านเครื่องมือมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามหมอมองว่า ความเชี่ยวชาญของแพทย์ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผ่าตัด คือแพทย์จะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญตั้งแต่การวินิจฉัยและการวางแผนการรักษา แน่นอนว่าการใช้เครื่องมือที่ดี การนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ย่อมมีส่วนทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ผ่าตัดได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วขึ้น ข้อผิดพลาดหรือผลข้างเคียงต่างๆ ก็จะเกิดกับคนไข้น้อยลงด้วย”
หลังจาก นพ.มังกร ตียะภูดิศ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้ว คุณหมอได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ (Orthopedic) และต่อยอดเพิ่มพูนความรู้ในอนุสาขาศัลยศาสตร์ข้อเข่าข้อสะโพกเทียม ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…
“สมัยเรียนแพทย์ หมอมีความสนใจเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในส่วนของกระดูกและเส้นเอ็นต่างๆ ประกอบกับมีความรู้สึกถนัดในการรักษาโรคทางด้านนี้ที่มีการทำงานด้านศัลยกรรมค่อนข้างมาก เลยคิดว่างานด้านกระดูกและข้อนี่แหละเข้ากับตัวเองมากที่สุด
พอเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อได้สองสามปี หมอเห็นว่าอุบัติการณ์ของคนไข้ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมนั้นมีมากขึ้น และหมอก็ชอบพูดคุยกับผู้สูงวัย ซึ่งทำให้หมอทราบถึงปัญหาและความทุกข์จากอาการป่วยด้วยโรคข้อเข้าเสื่อมและสะโพกเสื่อมอยู่เนืองๆ นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้หมออยากจะศึกษาเพิ่มเติม เพื่อรักษาคนไข้ได้อย่างครอบคลุมและตอบโจทย์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น หมออยากเห็นคนไข้กลับมาเดินได้ดี และใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด เพราะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าปัญหาการเคลื่อนไหวลำบาก นอกจากจะเจ็บปวดทางร่างกายแล้วจิตใจก็พลอยหม่นหมองไปด้วย”
คนไข้หลักๆ ที่คุณหมอดูแลรักษาและผ่าตัด
คนไข้โรคทางกระดูกและข้อ ที่คุณหมอมังกร ดูแลรักษานั้น ประมาณ 10% จะเป็นคนไข้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมและข้อสะโพกเสื่อม นอกจากนี้ก็เป็นกลุ่มที่มีปัญหาปวดหลัง ปวดไหล่ หมอนรองกระดูกทับเส้น กลุ่มออฟฟิศซินโดรม รวมถึงกรณีกระดูกหัก…
“กลุ่มคนไข้ที่ต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหรือข้อสะโพกเทียม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเสื่อมตามวัย แต่ในคนที่อายุน้อยๆ ที่มีภาวะหัวสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยงทำให้ข้อสะโพกเสื่อมก็มีอยู่มากเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะย่านศรีราชา ชลบุรีแถบนี้เป็นนิคมอุตสาหกรรม คนวัยทำงานจากที่อื่นๆ มาอาศัยอยู่มาก ทำให้พบเคสภาวะหัวสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยงนี้มากขึ้นกว่าที่อื่นๆ อีกกลุ่มหนึ่งคือคนไข้ชาวต่างชาติที่เกษียณมาจากประเทศของเขาแล้วมาใช้ชีวิตที่นี่ ก็จะเหมือนผู้สูงอายุทั่วไป คือมักมีปัญหาข้อสะโพกเสื่อมหรือข้อเข่าเสื่อมไม่มากก็น้อย”
การดูแลคนไข้วัยเกษียณ ต้องใส่ใจ และเข้าถึงความต้องการที่แท้จริง
โรคข้อเข่าเสื่อมหรือข้อสะโพกเสื่อมมักเกิดขึ้นตามวัย คนไข้จะมีความเจ็บปวดทรมาน เดินเหินขยับแข้งขาได้ไม่เต็มที่ จะไปไหนมาไหนก็ลำบาก และรู้สึกว่าตนเป็นภาระของลูกหลาน ดังนั้นนอกจากการรักษาโรคทางด้านร่างกายแล้ว คุณหมอมังกร จะให้ความสำคัญกับสภาวะทางจิตใจของคนไข้ด้วย ยิ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัย จึงต้องให้การดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ…
“ในการรักษา หมอจะให้ความมั่นใจกับคนไข้ว่า การผ่าตัดคือวิธีที่ดีที่เราเลือกให้เขา เพื่อให้เขากลับมาเดินได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำอะไรเองได้ ไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน อย่างไรก็ตาม หมอจะพิจารณาถึงเป้าประสงค์ของคนไข้ว่าความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไร บางคนอาจต้องการแค่เดินได้ ไปไหนมาไหนเองได้ แต่บางคนอยากกลับไปวิ่งออกกำลังกายหรือปั่นจักรยานได้ดีเหมือนเดิม ซึ่งความคาดหวังของคนไข้เป็นสิ่งสำคัญที่หมอจะนำมาประเมินกับตัวโรคเพื่อบอกว่าเราจะช่วยรักษาเขาได้ถึงจุดไหน
สิ่งสำคัญคือต้องให้กำลังใจและให้ความมั่นใจกับคนไข้ เพราะมีคนไข้หลายรายกลับมาคุยกับหมอว่ารู้อย่างงี้ยอมผ่าตัดตั้งนานแล้ว เพราะตอนแรกคนไข้อาจจะมีความกังวล กลัวผลข้างเคียง กลัวพิการ ก็เลยยอมทนปวดทนทรมานกับอาการเสื่อมของข้อเข่าหรือสะโพก กว่าจะยอมผ่าตัดได้ก็ต้องถึงขั้นทนไม่ไหวก่อน”
แบ่งปันเคสประทับใจ ผ่าตัดคนไข้กระดูกบาง
ในการผ่าตัดกระดูก หากคนไข้มีโรคร่วมหรือภาวะกระดูกพรุนกระดูกบาง ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด คุณหมอมังกร ได้ยกตัวอย่างเคสที่ท้าทายและมีความประทับใจว่า…
“เคสนี้ เป็นคนไข้ผู้หญิงอายุ 30 กว่า มีโรคร่วมคือโรคไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกไตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคไตก็มักจะมีภาวะกระดูกบาง เพราะการฟอกไตจะทำให้ระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงผิดปกติซึ่งส่งผลต่อมวลกระดูก อย่างคนไข้รายนี้มีปัญหาทั้งเรื่องไตและพาราไทรอยด์จนทำให้คอสะโพกหักทั้งสองข้าง จึงต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวสะโพกเทียมให้ การผ่าตัดคนไข้ที่กระดูกบางถือว่าเป็นงานที่เสี่ยงมากๆ เพราะมีโอกาสกระดูกแตกสูง หมอจะต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง
แม้การผ่าตัดจะผ่านพ้นไปด้วยดี แต่หลังจากผ่าตัดเสร็จไม่กี่วันคนไข้ก็มีปัญหาอื่นตามมา คือ กระดูกต้นขาหักทั้งสองข้าง ซึ่งการรักษาในรอบนี้จะต้องใส่เหล็กดามกระดูกต้นขาให้ หากถามว่าการผ่าตัดเปลี่ยนหัวสะโพกเทียมและใส่เหล็กดามกระดูกต้นขาทั้งสองข้างแล้วคนไข้รายนี้เสร็จสิ้นตอบโจทย์แล้วหรือยัง? หมอก็ต้องบอกว่ายังไม่จบ เพราะต้องกลับไปที่ต้นเหตุของปัญหาคือไตวายและภาวะพาราไทรอยด์สูง คนไข้จึงต้องถูกส่งไปผ่าตัดแก้ไขในส่วนพาราไทรอยด์ออกให้หมด เพื่อให้ร่างกายสามารถกลับมาสร้างกระดูกเองได้ ตราบใดที่คนไข้ยังมีภาวะพาราไทรอยด์สูง กระดูกก็ยังคงบอบบางเปราะหักง่ายเช่นเดิม และยังคงเดินไม่ได้ หลังจากผ่าตัดแก้ไขในส่วนพาราไทรอยด์ออกแล้ว ผ่านไปหกเดือนคนไข้ได้มาติดตามผลการรักษาตามนัดหมาย ปรากฏว่ากระดูกตัวหนาขึ้น มวลกระดูกแข็งแรงขึ้น หน้าตาสดใสและดูแข็งแรงดี ที่สำคัญคือสามารถกลับมาเดินได้ ขับรถเองได้ และปัจจุบันก็ยังมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ หมอก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ช่วยพลิกชีวิตเขา ไม่ให้เขาต้องเป็นคนไข้ติดเตียงตลอดไป”
เป็นแพทย์จากความมุ่งมั่นตั้งใจ รักษาคนไข้อย่างเข้าถึง
ไม่มีใครอยากจะมาโรงพยาบาลถ้าไม่เจ็บป่วย ดังนั้นคุณหมอมังกร จึงให้ความสำคัญในการรับฟังปัญหาของคนไข้ ทั้งเรื่องความเจ็บป่วย รวมถึงเรื่องอื่นๆ แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวอย่างปัญหาครอบครัว คุณหมอมองว่า การได้คุยในทุกมุมกับคนไข้จะทำให้เข้าถึงปัญหา และสามารถดูแลคนไข้แบบองค์รวมได้ดี คือไม่ใช่เน้นการรักษาอาการเจ็บป่วยอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสภาพจิตใจของคนไข้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการรักษา…
“เมื่อคนไข้กล้าเล่าถึงปัญหาและเรื่องส่วนตัวของเขา ย่อมแสดงว่าเขามีความไว้เนื้อเชื่อใจเรา และมีมิตรไมตรีกับเราในระดับหนึ่ง เมื่อเราให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำอะไร ก็จะเข้าใจกันง่ายขึ้น ยิ่งคนไข้สูงวัย เราต้องปฏิบัติกับเขาให้ดีแบบที่เราปฏิบัติกับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของเรา คือปรารถนาที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอ
ทุกวันนี้หมอก็ยังรู้สึกดีใจทุกครั้งที่ได้รักษาคนไข้ให้หายดี หมอคิดว่าการเป็นหมอของแค่ละคนย่อมมีเหตุผลแตกต่างกันไป บางคนเรียนเก่งก็เลยเป็นหมอเพื่อความมั่นคงในอาชีพ แต่ส่วนตัวหมอเองไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งมากมาย แต่มีใจรักที่อยากเป็นหมอจึงมุ่งมั่นและพยายาม จากเดิมทีเคยเรียนเภสัชศาสตร์มาก่อน ก็ได้สอบใหม่เพื่อเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ และใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะเพิ่มพูนความรู้ให้เชี่ยวชาญด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ รวมถึงการผ่าตัดข้อเข่าเทียมและข้อสะโพกเทียม ดังนั้นทุกครั้งที่รักษาคนไข้หมอจะพยายามอย่างสุดความสามารถ เพราะเป็นสิ่งที่หมอรักมาตลอด”