ข้อมูลแพทย์

นพ.อาทิทัต คิรินทร์ภาณุ

  • สาขา:ออร์โธปิดิกส์
  • อนุสาขา:ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกเท้าและข้อเท้า
  • ภาษา:ไทย - อังกฤษ
สาขา
  • แพทย์ศาสตร์บัญฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วุฒิบัตร ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน
  • ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกเท้าและข้อเท้า โรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า

บทสัมภาษณ์แพทย์

นพ.อาทิทัต คิรินทร์ภาณุ

คนเราต้องใช้เท้าและข้อเท้าในการเดิน ในการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่บางทีเราอาจมองข้ามความสำคัญของมันไป แต่หากนึกดูว่า ถ้าวันไหนเราเจ็บขาหรือเท้าแม้เพียงข้างเดียวก็จะเกิดความลำบากในการใช้ชีวิต

แต่ถ้าเราเจ็บแขนหรือมือข้างเดียวเรายังพอใช้งานอีกข้างหนึ่งได้โดยไม่ลำบากเกินไปเมื่อเทียบกับการเจ็บขาหรือเท้า เท้าจึงนับเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากในการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นรากฐานของการเดิน ถ้าคนเราขาดอวัยวะส่วนนี้ไปคงลำบากมากทีเดียว ด้วยเหตุนี้หมอจึงเลือกศึกษาต่อในอนุสาขาด้านกระดูกเท้าและข้อเท้า เพื่อจะได้ช่วยเหลือคนไข้กลุ่มนี้ได้มากขึ้น

นพ.อาทิทัต คิรินทร์ภาณุ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรศัลยกรรมกระดูกและข้อ ที่สถาบันการแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน และต่อยอดในอนุสาขาด้านศัลยศาสตร์ข้อเท้าและเท้า ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ ปัจจุบันคุณหมออาทิทัต เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ที่เชี่ยวชาญพิเศษด้านการรักษากระดูกเท้า ที่โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา มานานกว่าหกปี คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…

“โดยส่วนตัว หมอชอบการรักษาสิ่งที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ชัดเจน ซึ่งการรักษากระดูกเป็นการรักษาที่ตอบโจทย์นี้ได้ดี อย่างเช่น การต่อกระดูก เราจะเห็นได้เลยว่ามันสามารถต่อได้เลย เมื่อต่อให้เข้าที่และติดดีแล้วก็สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม ซึ่งไม่เหมือนโรคบางอย่างที่เราจับต้องไม่ได้ ประกอบด้วยโรคทางด้านนี้เป็นการรักษาที่คล้ายๆ งานช่าง ต้องประดิษฐ์ ต้องต่อเติมคล้ายๆ กับการต่อจิกซอร์ ซึ่งเป็นงานในลักษณะหมอชอบ รวมถึงยังได้มีโอกาสใช้องค์ความรู้ทางด้านแพทยศาสตร์และด้านศิลปะมาผสมผสานในการรักษาคนไข้ ซึ่งหมอคิดว่ามีความท้าทายและน่าสนใจดี” 

แพทย์เฉพาะทาง เพื่อการรักษาที่เชี่ยวชาญในแต่ละส่วน

ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ค่อนข้างมากในแต่ละปี โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา จึงได้เตรียมความพร้อมโดยจัดทีมแพทย์เฉพาะทางในหลายๆ ส่วนอวัยวะไว้รองรับการรักษา เนื่องจากในกรณีคนเจ็บได้รับอุบัติเหตุมาอาจไม่ได้มีปัญหาแค่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเท่านั้น ความพร้อมของแพทย์เฉพาะทางและแพทย์สหสาขาทำให้สามารถรักษาและผ่าตัดคนไข้ทีเดียวพร้อมกันได้ในหลายส่วน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดเด่นของโรงพยาบาล… 

นอกจากนี้ การดูแลคนไข้ในส่วนของโรคกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ยังมีการสื่อสารกันระหว่างทีมแพทย์ พยาบาล กับคนไข้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย เช่น การใช้โปรแกรม LINE ติดต่อกับคนไข้ได้ทันที มีระบบแจ้งเตือนการนัดหมาย หรือคนไข้บางโรคที่ไม่ต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกครั้ง เช่น คนไข้โรคเก๊าท์ ก็จะมีระบบ Tele Medicine เพื่อปรึกษาอาการและความคืบหน้าในการรักษา ทั้งยังมีการจัดส่งยาให้ทางไปรษณีย์ อีกด้วย ซึ่งคุณหมออาทิทัต นับเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและดูแลรักษาคนไข้เป็นอย่างดี…

“หมอจะดูแลรักษาคนไข้ให้ดี ให้เหมือนดูแลคนในครอบครัวเรา เพื่อนเรา การทำงานจะยึดหลัก Do-No-Harm ตามจริยธรรมการแพทย์ คือ การกระทำอะไรแก่ผู้ป่วย ไม่ใช่แค่ดูว่ามีประโยชน์เท่านั้น ยังต้องพิจารณาว่าไม่ทำอันตรายแก่ผู้ป่วยด้วย

สำหรับคนไข้ หมอก็อยากจะฝากในเรื่องความระมัดระวังในการเกิดอุบัติเหตุทั้งจากการทำงานและการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะทำอะไรที่มีความเสี่ยงก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐาน หากเกิดอุบัติเหตุ แม้จะดูเหมือนเล็กน้อย หมอก็อยากให้ได้รับการตรวจเช็กที่โรงพยาบาล เพราะหลายครั้งที่เราพบว่ามีอาการบาดเจ็บอยู่ข้างในโดยที่เรามองไม่เห็นถ้าไม่ได้ให้แพทย์ตรวจ เช่น อาการข้อเท้าบวมเมื่อตรวจโดยละเอียดหลายเคสเราพบว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้างใน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี”

แพทย์ผู้ทุ่มเทการรักษาด้วยจรรยาแพทย์ Do-No-Harm

ในช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ที่คุณหมออาทิทัต ดูแลรักษาเท้าให้กับคนไข้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าจะมีทั้งเคสทั่วๆ ไป และเคสที่เป็นหนักแบบที่รักษาได้ยาก ซึ่งคุณหมอได้ยกตัวอย่างเคสล่าสุดไว้ว่า… 

“เคสนี้ เป็นคนไข้อายุประมาณ 50 ปี มาด้วยอาการเท้าผิดรูป เพราะเคยประสบอุบัติเหตุแต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จึงมีอาการเรื้อรังมาหลายปี แค่มองด้วยตาก็เห็นว่าเท้าผิดรูปค่อนข้างเยอะ และจากการตรวจวินิจฉัยร่วมกับผล X-ray ก็พบว่าอาการค่อนข้างหนัก หมอก็แจ้งกับคนไข้ตรงๆ ว่าการผ่าตัดมีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ พร้อมอธิบายข้อดีข้อเสียและผลที่เราคาดหมายในการรักษา ซึ่งคนไข้ก็อยากรักษาเพราะถ้าไม่รักษาก็ไม่สามารถลงน้ำหนักเท้าได้ จะใช้ชีวิตหรือไปทำงานก็ไม่ได้เลย

เคสนี้ใช้เวลาผ่าตัดค่อนข้างนาน เพราะต้องมีการนำกระดูกตรงสะโพกมาใส่ตรงข้อเท้า มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเยอะมาก ซึ่งสุดท้ายการผ่าตัดก็สำเร็จได้ด้วยดี ตอนนี้คนไข้หายดี เดินได้ตรง ใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว จากเคสนี้ก็นับเป็นการเรียนรู้ที่หมอตระหนักอีกครั้งว่า ในเคสที่ยากมากๆ เราจะต้องอาศัยความเข้าใจกันระหว่างหมอกับคนไข้ เมื่อคนไข้มีความเข้าใจในกระบวนการรักษา และมั่นใจในตัวหมอ ก็จะช่วยให้ผ่านพ้นไปด้วยดี”

ข้อมูลสุขภาพ

แพทย์ผู้เกี่ยวข้อง