ข้อมูลแพทย์

นพ.เอกวิทย์ ถาวร

  • สาขา:ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์
  • อนุสาขา:กระดูกสันหลัง
  • ภาษา:ไทย อังกฤษ
สาขา
  • 2542 ปริญญาบัตรแพทยศาสตร์บัณฑิต โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 2549 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์
  • 2554 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญอนุสาขากระดูกสันหลัง

บทสัมภาษณ์แพทย์

นพ.เอกวิทย์ ถาวร

"หมอถนัดที่จะรักษาและผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่างๆ และที่ชอบการผ่าตัดเพราะเห็นว่าเป็นการรักษาที่ช่วยให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ทุกวันนี้หมอก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ดูแลรักษาคนไข้ และได้ทำในสิ่งที่ชอบไปด้วยพร้อมๆ กัน"

หลังจาก นพ.เอกวิทย์ ถาวร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2542 และได้เป็นแพทย์ใช้ทุนเรียบร้อยแล้ว คุณหมอได้เข้าศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านในสาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นเวลา 4 ปี ต่อมาได้ไปเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และยังได้ศึกษาต่อยอดในอนุสาขาด้านกระดูกสันหลัง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เช่นกัน คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…

“ที่หมอมาเรียนแพทย์ ก็เพราะมีความสนใจเกี่ยวกับกายวิภาคของมนุษย์ และสาขาที่ชอบรวมถึงตอบโจทย์ได้ดีเป็นพิเศษก็จะเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก หมอถนัดที่จะรักษาและผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่างๆ และที่ชอบการผ่าตัดเพราะเห็นว่าเป็นการรักษาที่ช่วยให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ทุกวันนี้หมอก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ดูแลรักษาคนไข้และได้ในสิ่งที่ชอบไปด้วยพร้อมๆ กัน”

หลากหลายปัญหากระดูกของคนไข้ ที่มาให้คุณหมอรักษา

คนไข้ด้านกระดูก มักมาด้วยอาการปวดหลัง ปวดข้อ ทั้งจากการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และจากอุบัติเหตุ สำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดข้อ คุณหมอเอกวิทย์ จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อแยกก่อนว่า คนไข้ปวดจากข้อโดยตรงหรือปวดจากปัญหาในส่วนอื่นๆ เช่น มีนิ่ว หรือไม่

ในส่วนของอาการปวดหลัง นั้นเป็นได้ตั้งแต่กล้ามเนื้ออักเสบ หรือหมอนรองกระดูกทับเส้น ดังนั้น การหาสาเหตุให้พบโดยเร็วจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างตรงจุด ซึ่งจะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูง และหากคนไข้ปวดหลังเพราะอุบัติเหตุจากการมีกระดูกแตกร้าว หรือประสบอุบัติเหตุข้อเข่าแตก ก็จำเป็นต้องพิจารณาถึงการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน…

“เคสผ่าตัดเร่งด่วนส่วนใหญ่มักจะเป็นคนไข้ที่มีปัญหาที่กระดูกสันหลัง (spine) จากการได้รับอุบัติเหตุ อาจจะด้วยโรงพยาบาลของเราตั้งอยู่ใกล้โรงงานอุตสากรรมหนัก มีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรเยอะ คนไข้จึงมักมีอาการหนักๆ มา อย่างรายหนึ่งนี่ขยับแข้งขาไม่ได้เลย เนื่องจากการทำงานหนักจนกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หมอก็ทำการผ่าตัดจนเขาสามารถกลับมายืนได้ เดินได้ และใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 

ส่วนเคสคนไข้ประสบอุบัติเหตุในช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้กระดูกข้อเข่าแตกละเอียดหลายส่วน รายนี้กว่าจะมารักษากับหมอก็ย่างเข้าวันที่ 22 เมษายน แล้ว และเนื่องจากเป็นเคสกระดูกหักที่ถูกทิ้งไว้นานเป็นสิบวัน ทำให้การผ่าตัดมีความยากมากขึ้น แต่หมอและทีมสหสาขาวิชาชีพของเราก็สามารถรักษาเคสนี้จนหายดีในที่สุด”

เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ช่วยรักษาคนไข้ในกลุ่มโรคกระดูกสันหลัง

การรักษาคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของโรค โดยคุณหมอเอกวิทย์ จะพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งความรุนแรงและปัญหาของโรค มีตั้งแต่การให้ยา การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาเข้าโพรงไขสันหลัง การฉีดซีเมนต์กระดูก การผ่าตัดหมอนรองกระดูก ใส่เหล็กยึดตรึงกระดูกสันหลัง คุณหมออธิบายว่า…

“อย่างการรักษาอาการกระดูกหักยุบที่พบมากในกลุ่มคนไข้สูงอายุ หมอจะใช้วิธีที่เรียกว่า Vertebroplasty ซึ่งเป็นการฉีดซีเมนต์เข้าไปในบริเวณกระดูกสันหลัง เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลัง และช่วยลดการเกิดภาวะกระดูกสันหลังผิดรูป ทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดการหักซ้ำ โดยหลังจากฉีดซีเมนต์แล้วคนไข้จะมีอาการดีขึ้นได้ทันที”

หัวใจสำคัญในการรักษา และหน้าที่แพทย์ที่ดี

คนไข้ทุกคนเมื่อมาพบแพทย์ก็ย่อมต้องการการรักษาที่ดี เพื่อการหายจากโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ และนี่คือหน้าที่สำคัญของคุณหมอเอกวิทย์ ที่จะทำการตรวจร่างกาย ซักประวัติ ส่งทำเอกซเรย์เพิ่มเติม หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อนำข้อมูลมาสรุปเป็นผลการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ อันจะนำพาไปสู่การรักษาที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี…

“และสำหรับใครที่แม้ยังไม่ป่วย แต่กังวลเรื่องสุขภาพกระดูก หมอก็แนะนำว่าให้หาเวลามารับการตรวจ ไม่ว่าจะตรวจมวลกระดูก หรือตรวจกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานและผู้สูงอายุที่ผ่านการทำงานหนักมา ผู้ที่ใช้ชีวิตหรือทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ หรือยกของหนักเป็นประจำ ซึ่งมักจะส่งผลต่อหมอนรองกระดูก หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มักมีปัญหาเรื่องกระดูกเปราะบางก็ควรได้รับการตรวจด้วยเช่นกัน”

ข้อมูลสุขภาพ

แพทย์ผู้เกี่ยวข้อง