การตรวจคัดกรองการได้ยิน สามารถตรวจตั้งแต่แรกเกิดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป โดยใช้เครื่องมือที่เรียก ว่า Otoacoustic emissions (OAE) ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทหูชั้นในส่วนการได้ยินว่าทำงานดีหรือไม่ โดยอาศัยหลักว่า ถ้าหูชั้นในทำงานดี แสดงว่าเด็กได้ยิน
การตรวจคัดกรองการได้ยิน จะทำการทดสอบในขณะที่เด็กหลับอยู่นิ่งๆ โดยปล่อยเสียงกระตุ้น ไม่ทำให้เด็กเจ็บปวด เมื่อเครื่องทำงานจบจะแสดงผลการตรวจโดยอัตโนมัติ ใช้เวลาในการทดสอบน้อย สามารถทราบผลทันทีเมื่อสิ้นสุดการตรวจ
เด็กแรกเกิดทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนี้
– เด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวหูตึงตั้งแต่ยังเล็ก
– เด็กที่มีความผิดปกติของหน้าตา โครงหน้าที่ผิดปกติ รวมทั้งปากแหว่ง เพดานโหว่
– โรคทางพันธุกรรม
– มารดามีภาวะติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เริม ติดเชื้อไซโตเมคตะโสไวรัส เป็นต้น
– เด็กที่คลอดออกมาแล้วน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม
– มีตัวเหลืองมากในระหว่างแรกคลอด จนต้องถ่ายเลือด
– มีภาวะขาดออกซิเจนรุนแรงตั้งแต่แรกเกิด
– มีภาวะติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด เพราะการติดเชื้อจะไปทำลายประสาทหูชั้นใน รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะบางตัวที่เด็กได้รับซ้ำ อาจไปทำลายหูชั้นในเช่นกัน